การใช้ canva ทำงานส่งโรงพิมพ์


เวลาเราพูดถึงการทำอาร์ตเวิร์คเพื่อส่งโรงพิมพ์ เราจะนึกถึงไฟล์ดิจิทัลในคอมพิวเตอร์ ทำภาพหรือตัวหนังสือให้ได้อย่างที่ต้องการแล้วส่งทั้งไฟล์ที่ทำเสร็จไปให้โรงพิมพ์เลย และหลังจากนั้นเราก็คาดหวังว่าโรงพิมพ์จะพิมพ์งานได้เรียบร้อย ซึ่งนี่เป็นโลกอุดมคติ ทุกคนและโรงพิมพ์ก็อยากอยู่ในสถานการณ์แบบนี้

ในความเป็นจริงโรงพิมพ์ไม่ได้ทำงานได้ราบลื่นแบบที่คิด เพราะข้อมูลที่ส่งจากนักออกแบบด้วยคอมพิวเตอร์มักจะมาไม่ครบ ตั้งแต่ ไฟล์ภาพที่มาไม่ครบ บางครั้งมาครบก็ไฟล์คุณภาพต่ำ ความละเอียดน้อยเกินไปสำหรับงานพิมพ์ และที่มักเป็นปัญหาบ่อยครั้งคือ ตัวหนังสือเพี้ยน นักออกแบบมือสมัครเล่นส่วนมากจะเลือกใช้ตัวหนังสืออย่างอิสระ เพราะออกแบบเองจะเลือกใช้อะไรก็ได้ และมันก็ควรเป็นอย่างนั้น แต่ในตอนที่จะส่งไฟล์ให้โรงพิมพ์ก็มักจะลืมไปว่า ตัวหนังสือแปลกประหลาดหรือตัวหนังสือแสนสวยที่เราเลือก โรงพิมพ์อาจไม่มีตัวหนังสือแบบนี้อยู่ในเครื่องคอมพิวเตอร์ของโรงพิมพ์ก็ได้ เพราะตัวหนังสือแสนสวยมักเป็นตัวหนังสือที่ต้องเสียเงินซื้อ และบางครั้งตัวหนังสือแสนสวยก็เป็นสิ่งหายาก นักออกแบบไปหามาจากไหนก็ไม่รู้ โรงพิมพ์ไม่สามารถหาตัวหนังสือเหล่านั้นได้ตามที่ลูกค้าต้องการ

นอกจากภาพที่มาไม่ครบ คุณภาพต่ำ และตัวหนังสือเพี้ยนแล้ว ยังมีอีกเหตุการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นบ่อยที่สุดคือ ไฟล์ไม่ได้ทำตัดตกมา ในวงการออกแบบสิ่งพิมพ์จะเรียกว่า breed ซึ่งโรงพิมพ์ระดับมืออาชีพจะต้องการไฟล์ที่ออกแบบมาพร้อม breed นั่นคือไฟล์งานมีตัดตกเรียบร้อย แต่นักออกแบบมือใหม่ส่วนมากไม่เคยรู้ว่าต้องมีตัดตก และไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไรให้มีตัดตก

Screen Shot 2565-10-10 at 11.14.30

คำว่าตัดตกคือสิ่งที่มีเอาไว้ตัดออกเมื่อตอนพิมพ์เสร็จ ยกตัวอย่างการทำงานนามบัตรจะได้เข้าใจ นามบัตรมาตรฐานจะมีขนาด 5.5x9cm ซึ่งเป็นขนาดที่ทุกคนรับรู้ และสมุดใส่นามบัตรก็ต้องใส่กระดาษชิ้นนี้ได้ ในการออกแบบนักออกแบบก็มักจะสร้างไฟล์ที่มีขนาด 5.5x9cm แล้วส่งให้โรงพิมพ์ ถามว่าโรงพิมพ์จัดพิมพ์ได้ไหม ตอบว่าได้ แต่จะตัดขอบให้สวยงามไม่ได้เลย เพราะการตัดกระดาษจะมีระยะการตัดที่ผิดพลาดได้ 0.1-0.5มม. ข้อมูลที่อยู่ในกระดาษใบนี้ก็อาจจะแหว่ง หรือ อะไรที่เคยถูกวางไว้ติดขอบกระดาษ เมื่อตัดออกมาก็อาจจะเห็นว่าไม่ติดขอบ อย่างนามบัตรที่มีรูปผลไม้ติดขอบซ้ายและขอบบน หากเราส่งภาพมะม่วงไม่เต็มลูกอย่างภาพบนไปให้โรงพิมพ์ โรงพิมพ์ก็จะพิมพ์มะม่วงไม่เต็มลูกออกมา แต่ตอนตัดขอบเป็นใบๆ มีโอกาสที่จะตัดแหว่งแล้วมีขอบขาวอยู่ด้านซ้ายของมะม่วง

Screen Shot 2565-10-10 at 11.16.07

ในโรงพิมพ์หากต้องงานขนาด 5.5x9cm เราจะพิมพ์มันในขนาด 6.1×9.6 cm แล้วตัดขอบออกด้านละ 3มม. นั่นก็หมายความว่าเราต้องออกแบบในโปรแกรมให้มีข้อมูลขนาด 6.1×9.cm ส่วนที่เกินไปจาก 5.5x9cm เราจะเรียกว่ามีตัดตก 3มม. หรือมี breed 3mm การตัดขอบออกเล็กน้อยเพื่อให้ได้งานตามที่ออกแบบเป็นสิ่งที่จำเป็นมากสำหรับการทำงานสิ่งพิมพ์ โปรแกรมออกแบบที่นักออกแบบคุ้นเคยอย่าง Adobe illurtrator หรือ Adobe indesign ก็จะต้องมีการตั้งค่า breed เพื่อการทำงานที่จะส่งไปพิมพ์ได้ตรงตามมาตรฐานของการพิมพ์ ภาพนามบัตรที่มีมะม่วงเต็มใบพร้อมเส้นสีดำที่เป็นตำแหน่งตัดกระดาษคือภาพที่มีตัดตก งานมีตัดตกจะทำให้การผลิตทำได้ตามที่ออกแบบไว้

Screen Shot 2565-09-15 at 08.59.50

Screen Shot 2565-09-15 at 09.00.02

ในยุคปัจจุบันโลกเรามีคนทำซอร์ฟแวร์พวกนี้ให้ง่ายขึ้น เรามีเว็บไซต์ canva.com ที่ช่วยออกแบบได้อย่างรวดเร็ว นักออกแบบมือใหม่สามารถทำงานกราฟิคทางอินเทอเน็ต ไม่ต้องซื้อโปรแกรมให้สิ้นเปลืองก็สามารถออกแบบสิ่งพิมพ์ได้ และการใช้ canva ออกแบบนามบัตรก็ได้รับความนิยมมากเช่นกัน ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาโรงพิมพ์ได้รับงานอาร์ตเวิร์คนามบัตรที่ทำจาก canva หลายงาน และทุกงานที่ส่งมาจะไม่มีตัดตกเลย เพราะ canva ตั้งให้ไม่มีตัดตกเป็นค่าเริ่มต้น ซึ่งหากเราตั้งใจจะทำไฟล์เพื่อส่งพิมพ์ในโรงพิมพ์ เราจะต้องตั้งค่า canva ในหน้าเว็บให้มีการ export ไฟล์ดิจิทัลแบบมีตัดตกเพื่อส่งโรงพิมพ์ และอ๊อพชั่นนี้ canva ก็เตรียมเอาไว้ให้เรียบร้อยแล้ว

การส่งไฟล์ที่ออกแบบมาอย่างเรียบร้อย มีตัดตกสำหรับการผลิตในโรงพิมพ์จะช่วยให้เจ้าของงานได้งานที่มีคุณภาพ เพราะโรงพิมพ์ทุกแห่งอยากผลิตงานที่มีคุณภาพที่สุดอยู่แล้ว ลองดูศึกษาวิธีทำตัดตกในโปรแกรมที่เราใช้งานออกแบบสิ่งพิมพ์ดูนะครับ

Leave a comment