สิ่งที่ต้องทำเมื่อจะพิมพ์โบรชัวร์

โบรชัวร์ หรือ สื่อแผ่นพับ เป็นตัวกลางในการให้ข้อมูลแก่ลูกค้าหรือผู้ใช้งาน อาจจะเป็นตัวบอกข้อมูลสเป็คต่างๆของสินค้า ใช้บอกคุณสมบัติหรือความสามารถ ไม่ว่าจะยุคสมัยไหนโบรชัวร์ก็เป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องมีไว้คู่กับสินค้า อดีตมันคือสื่อส่งเสริมการขายที่จะส่งให้ว่าที่ลูกค้า ปัจจุบันแม้เราจะอยู่ในยุคอินเทอเน็ตที่เอกสารต่างๆสามารถทำเป็นไฟล์ดิจิทัลและให้เปิดดูได้ในโทรศัพท์หรือคอมพิวเตอร์ แต่ลองนึกภาพดูว่า ถ้าคุณขายบ้าน คอนโด หรือรถยนต์ หรือสินค้าราคาสูง คุณจะไม่มีโบรชัวร์เป็นกระดาษส่งให้ลูกค้าถือหรือเปิดดูเลยหรือ 

หากต้องการพิมพ์โบรชัวร์เป็นกระดาษเพื่อใช้งานสิ่งที่จำเป็นต้องทำคือการสั่งผลิตกับโรงพิมพ์ และในการทำงานร่วมกับโรงพิมพ์ก็มีรายละเอียดต่างๆที่ควรทำ ไม่ว่าคุณจะเป็นเจ้าของสินค้า หรือ เป็นเอเจนซี่โฆษณาที่รับจ้างเจ้าของสินค้าทำสื่อ ขั้นตอนการสื่อสารกับโรงพิมพ์มีดังนี้

IMG_0088

1 คุยกับโรงพิมพ์

คุณจะทำใบปลิวหรือโบรชัวร์กระดาษ คุณต้องคุยกับโรงพิมพ์ที่จะผลิตสิ่งนั้น โรงพิมพ์ที่ทำงานกระดาษก็จะมีระบบการพิมพ์ที่ทันสมัยอย่างดิจิทัลปริ๊นท์ที่สามารถใช้ทำปรู๊ฟหรือใช้ผลิตสื่อจำนวนน้อยได้ หรือหากจะพิมพ์โบรชัวร์ยอดเยอะ เพื่อแจกคนจำนวนมาก ก็ต้องใช้ระบบการพิมพ์อ๊อพเซ็ทเพื่อให้ต้นทุนต่อใบต่ำลง หรือแม้แต่คุณอยากจะทำป้ายไวนิลไปแขวนโชว์ คุณก็ต้องใช้โรงพิมพ์ที่มีเครื่องพิมพ์อิงค์เจ๊ต ซึ่งเป็นเครื่องพิมพ์ขนาดใหญ่สำหรับทำงานไวนิลโดยเฉพาะ ดังนั้น สื่อของคุณจะออกมาในรูปแบบใด ให้คุยเบื้องต้นกับโรงพิมพ์ที่ทำสื่อตัวนั้นได้เสียก่อน เพื่อสอบถามถึงวิธีการเตรียมข้อมูลที่จะส่งให้โรงพิมพ์ จะได้ทำไฟล์อาร์ตเวิร์คได้ถูกต้องและทำงานร่วมกันได้

2 ตรวจสอบอาร์ตเวิร์คให้ละเอียด

ไฟล์งานที่จะใช้สั่งพิมพ์จะต้องถูกจัดวางในโปรแกรมจัดหน้า ซึ่งในยุคปัจจุบันเราก็มีโปรแกรมจัดหน้าหลายตัวให้เลือกใช้ได้ตามความถนัด เราอาจจะใช้ adobe illustrator ออกแบบโปสเตอร์ก็ได้ จะใช้โปรแกรม canva ช่วยออกแบบและจัดวางก็ได้ สิ่งสำคัญคือเมื่อจัดหน้าแล้วต้องตรวจสอบให้ละเอียดว่าภาพครบถ้วน ตัวหนังสือไม่ตกหล่น สะกดคำไม่ผิด ภาพและข้อความต้องถูกต้องตามการออกแบบ ต้องผ่านการตรวจละเอียดก่อนจะจัดส่งโรงพิมพ์

3 ตรวจสอบขนาดภาพที่ใช้ในอาร์ตเวิร์ค

เมื่อมีการใช้ภาพวางในอาร์ตเวิร์ค เราจะต้องใช้ภาพที่มีคุณภาพสูงและมีความละเอียดเพียงพอ เมื่อก่อนภาพถ่ายจะอยู่บนฟิล์ม การสแกนภาพจากฟิล์มจะต้องเลือกความละเอียดให้สูงเพียงพอต่อการทำงานสิ่งพิมพ์ ยุคสมัยของฟิล์มจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการตรวจสอบขนาดภาพ ต่อมาเมื่อกล้องดิจิทัลได้รับความนิยม และกล้องดิจิทัลสามารถถ่ายภาพความละเอียดสูงได้เกิน 10ล้านพิกเซลกันแล้วก็ทำให้ประเด็นขนาดภาพในสิ่งพิมพ์ดูไม่สำคัญมาก เพราะขนาดภาพจากกล้องดิจิทัลทะลุความต้องการขั้นต่ำไปไกลแล้ว แต่ก็ต้องระวังเรื่องการคร็อปภาพมาใช้ เพราะถ้าเราถ่ายภาพมาใหญ่เพียงพอ แต่เราเลือกคร็อปบางส่วนมาใช้ มันคือการลดขนาดภาพ ลดจำนวนพิกเซลลง มันทำให้ขนาดอาจจะเล็กเกินไปเมื่อนำมาพิมพ์ในงานพิมพ์บนกระดาษ หรือบางภาพที่ส่งต่อกันในโปรแกรมไลน์ หรือ โหลดจากโซเชียลเน็ตเวิร์คก็อาจจะได้ภาพขนาดเล็ก เราต้องตรวจสอบอย่างรอบคอบ 

ตัวเลขคร่าวๆคือ ถ้าเราต้องการพิมพ์ภาพขนาดเต็มกระดาษ A4 ที่ดูคมชัดสวยงามระดับภาพถ่าย เราก็ควรจะใช้ภาพที่มีความละเอียด 300dpi หรือ 300จุดต่อนิ้ว   จำนวนพิกเซลที่ต้องการตามขนาดกระดาษ A4 (21×29.7cm.) คือขนาด 2480×3508 พิกเซล หรือเทียบกับกล้องดิจิทัล 8.7ล้านพิกเซลนั่นเอง 

4 ตรวจสอบเรื่องระบบสีของภาพ

ภาพในจอคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือ และภาพจากกล้องดิจิทัลจะเป็นภาพในโหมดสี RGB ซึ่งใช้งานได้ดีในจอภาพ แต่การพิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์ออกมาเป็นกระดาษจะใช้หมึกพิมพ์ระบบสี CMYK ดังนั้นไฟล์ภาพ RGB จะต้องถูกแปลงให้เป็นไฟล์ชนิด CMYK เสียก่อน การจัดหน้าอาร์ตเวิร์ค การตั้งค่าซอร์ฟแวร์จัดหน้า เมื่อเราตั้งใจจะส่งพิมพ์ในโรงพิมพ์ เราต้องตั้งค่าซอร์ฟแวร์จัดหน้าให้เป็นค่า CMYK  งานถึงจะมีคุณภาพ ซอร์ฟแวร์สมัยใหม่จะมีโหมดการแปลงค่าสีให้เป็น CMYK ในขั้นตอนสุดท้ายก่อนจะบันทึกเป็นไฟล์สำหรับโรงพิมพ์ แต่เราก็ควรตรวจสอบไฟล์ภาพและงานอาร์ตเวิร์คให้ดีว่าเราจบงานเป็นระบบสี CMYK จริงๆ

Screen Shot 2565-10-10 at 11.16.07

5 ต้องมีตัดตก

คำว่าตัดตกคือการตัดขอบทิ้ง ถ้าเราต้องการงานนามบัตรขนาด 55×90 มิลลิเมตร ซึ่งเป็นขนาดมาตรฐานที่นิยมใช้กับนามบัตร ไฟล์อาร์ตเวิร์คที่เราทำส่งโรงพิมพ์ก็ควรจะทำมาให้ใหญ่กว่าขนาดที่ต้องการด้านละ 3 มิลลิเมตร นั่นก็คือขนาดไฟล์นามบัตรที่ส่งโรงพิมพ์ควรจะใหญ่ 61×96 มิลลิเมตร คือการบวกเข้าไปด้านละ 3 มิลลิเมตรทุกด้าน ไฟล์ที่มีตัดตกจะผ่านการพิมพ์และตัดขอบออกด้านละ 3 มิลลิเมตร ทำให้ได้ขนาดตามที่ต้องการ

6 บันทึกเป็นไฟล์ pdf 

ถ้าเราออกแบบและตรวจสอบทุกอย่างถูกต้อง ผ่านมาแล้ว 5 ข้อด้านบน เราก็จะพร้อมที่จะส่งไฟล์ให้โรงพิมพ์แล้ว การบันทึกไฟล์ชนิด pdf จะเป็นไฟล์ที่โรงพิมพ์นำไปใช้พิมพ์งานได้ หากจะพิมพ์ด้วยระบบอ๊อฟเซ็ทดั้งเดิมโรงพิมพ์จะใช้ไฟล์ pdf ไปทำเพลทหรือแม่พิมพ์ หากจะพิมพ์ด้วยระบบดิจิทัลปริ๊นท์ไฟล์สำหรับสั่งพิมพ์จะต้องใช้ pdf ตัวนี้เช่นกัน แต่ถ้าเราไม่ได้ตรวจบางอย่างที่ต้องตรวจ หรือละเลยบางข้อไป ไฟล์ pdf ก็จะเป็นไฟล์ที่บรรจุข้อผิดพลาดไปด้วยเช่นกัน ดังนั้น ตรวจสอบให้แน่ใจทุกข้อแล้วค่อย export หรือ save as ไฟล์ชนิด pdf เพื่อส่งโรงพิมพ์

นี่คือขั้นตอนคร่าวๆที่เราจำเป็นจะต้องตรวจสอบและแก้ไขให้ถูกต้องก่อนที่จะส่งไฟล์ให้โรงพิมพ์ ผลลัพธ์งานพิมพ์จะออกมาอย่างที่เราต้องการ ตัวหนังสือไม่ตกหล่น ภาพถ่ายคมชัด สิ่งพิมพ์มีคุณภาพสูงสุด แต่หากรู้สึกว่าลำบาก งานเหล่านี้ก็ยกให้เอเจนซี่ หรือ นักออกแบบที่มีประสบการณ์ทำงานส่งโรงพิมพ์แทนก็ได้



การทำตัวอย่างกล่องก่อนผลิตจริง

การออกแบบแพ็คเกจจิ้งหรือออกแบบกล่องเพื่อจัดจำหน่ายเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องพิถีพิถัน เราอาจจะต้องจ้างนักออกแบบกราฟิคที่มีความเชี่ยวชาญในการออกแบบกล่องโดยเฉพาะ เพราะงานกล่องจะเป็นงานที่ต้องมีการตัดไดคัทเป็นรูปทรงด้วย มันมีความซับซ้อนกว่าการออกแบบใบปลิวทั่วไป

912281

การออกแบบกล่องที่สมบูรณ์ควรจะจบถึงการออกแบบเส้นไดคัท หรือเส้นตัดที่จะใช้สำหรับประกอบเป็นกล่องออกมา เส้นไดคัทนี้จะต้องมีรายละเอียดของส่วนพับ ส่วนติดกาว ภาพหรือข้อความที่ปรากฏบนกล่องที่จะแสดงผลแต่ละด้านต้องจัดวางแต่ละหน้าให้สอดคล้องกัน ด้านบนและด้านล่างกล่องอาจจะต้องกลับภาพหันหัวคนละทาง และต้องเลือกว่าจะทำฝากล่องเปิดด้านไหน ปิดด้านไหนของข้อความด้วย

20220609181802_IMG_0921

เมื่อได้อาร์ตเวิร์คกล่องที่สมบูรณ์แล้วก็ต้องพิมพ์ตัวอย่างพร้อมตัดออกมาเป็นทรงเหมือนจริง ต้องเลือกความหนากระดาษให้เหมาะสม และที่สำคัญต้องทดลองทำกล่องขนาดเท่าจริงออกมา เจ้าของงานควรจะเห็นกล่องขนาดเท่าจริง และถ้าเป็นไปได้ตัวอย่างกล่องก็ควรทำจากกระดาษจริงด้วย เพื่อที่จะนำไปใช้ทดลองใส่สินค้าจริงเพื่อให้มั่นใจว่าใส่สินค้าไปแล้วกล่องจะรับน้ำหนักสินค้าได้ หากเลือกกระดาษบางเกินไปแล้วสินค้าเป็นของหนักก็จะทำให้กล่องเสียรูปทรง ไม่สามารถคงรูปกล่องไว้ได้ กระดาษหนาเกินไปก็จะมีข้อเสียในเรื่องของต้นทุนการผลิต และการได้ตัวอย่างขนาดเท่าจริงก็ยังใช้ไปเป็นแบบถ่ายภาพเพื่อทำงานโฆษณาต่อได้ด้วย


เจ้าของสินค้าอยากออกแบบกล่อง
หรือ นักออกแบบอยากทำตัวอย่างกล่อง
ติดต่อได้ที่ โทร 0819373130 หรือ
https://line.me/ti/p/vGR_HrU7Cd

งานพิมพ์เร่งด่วน หนังสือที่ระลึกงานศพ

เพื่อนผมมีข่าวร้าย น้องชายเสียชีวิต และจัดงานศพอยู่ต่างจังหวัด เพื่อนผมอยากจะมีหนังสือที่ระลึกแจกให้กับแขกในงาน มีเวลาให้ทำประมาณ 1 วัน พอรู้ว่าจะต้องทำให้เสร็จในเวลาที่จำกัดมากๆ ก็เลยแจ้งกับเพื่อนว่า ผมขอไฟล์หนังสือแบบพร้อมพิมพ์ แล้วก็จะทำหนังสือประมาณ 100-300 เล่ม

IMG_1541

สิ่งที่ทางโรงพิมพ์จะต้องคิดทันทีคือ กระดาษจะสั่งจากโรงงานมาไม่ทันแน่ๆ ต้องใช้กระดาษที่มีสต๊อคอยู่ในโรงพิมพ์ ผมรีบเช็คทันทีว่าหนังสือจะต้องใช้ปกเป็นกระดาษหนา กระดาษ 260g เป็นกระดาษที่นิยมใช้ ส่วนเนื้อในก็มีทางเลือกเป็นกระดาษปอนด์ 70-80g ซึ่งเป็นสเป็คที่นิยมใช้ทำหนังสือ และก็จะมีกระดาษถนอมสายตา 75g ที่นิยมใช้เช่นกัน ผมให้ลูกน้องนับกระดาษทั้งหมดว่า เนื้อในเรามีเท่าไหร่ กระดาษทำปกเรามีเท่าไหร่ แล้วก็เช็คกับไฟล์ข้อมูลของเพื่อนว่า เนื้อในเมื่อทำเป็นหน้าหนังสือแล้วจะมีประมาณกี่หน้า นับหน้า แล้วก็คำนวณออกมา พบว่าเรามีสต๊อคกระดาษพอทำได้ 300 เล่ม

ปก 260g เนื้อใน 40 หน้า เล่มหนังสือประมาณ 5×7 นิ้ว ความหนาของเล่มนี้ก้ำกึ่งมาก ปกติหนังสือจำนวนหน้าไม่มากก็จะเหมาะกับการเย็บแม็กซ์มุงหลังคามากว่าไสกาว 40หน้า หรือ 20 แผ่น อาจจะไสกาวไม่สวย ผมเลยทำตัวอย่างออกมาทั้งสองแบบเพื่อดูว่าเย็บแม็กซ์สวยไหม หรือ ไสกาวสวยไหม กระดาษเกาะตัวกันเป็นเล่มได้ไหมเมื่อไสกาว และพบว่า ไสกาวก็ทำได้ เลยตัดสินใจทำเป็นระบบไสกาว

งานพิมพ์ปกใช้กระดาษ 260g พิมพ์ระบบดิจิทัล เมื่อทำเสร็จแล้วจะตัดแบ่งเป็นชิ้นๆ เพื่อไปทำเส้นพับด้วยเครื่องปั๊มแล้วรอประกอบเล่ม ส่วนตัวเนื้อใน ใช้กระดาษถนอมสายตา 75g พิมพ์ดิจิทัลขาวดำทั้งเล่ม แต่แทรกหน้าสี 1 หน้าในส่วนที่จะเป็นรูปของเจ้าของเรื่อง เพื่อให้หนังสือเล่มนี้มีภาพเจ้าของหนังสือเป็นภาพทางการซึ่งเป็นภาพสี ผมรู้สึกว่าหนังสือที่มีภาพสีธรรมชาติบางภาพเป็นหนังสือที่มีเสน่ห์มากกว่าสีขาวดำทั้งเล่ม เมื่อพิมพ์เนื้อในแล้วก็ตัดปลิวออกมาเรียงหน้า แล้วก็นำไปประกอบเล่ม เข้าเครื่องไสกาว

การไสกาวเราใช้เครื่องไสกาวสำเร็จรูป เครื่องจะหนีบเนื้อในไปวิ่งผ่านตัวไส แล้วจุ่มกาวในราง แล้วเดินไปประกบกับแผ่นปก งานไสกาวเป็นงานที่ทำด้วยเครื่องเสมอ หลังจากออกจากเครื่องไสกาวแล้วเราต้องรอเวลาประมาณ 30 นาทีเพื่อให้กาวแห้งสนิทแล้วจึงตัดเจียนให้จบเป็นหนังสือ งานนี้ พิมพ์ไป ปั๊ม ไสกาว ทำต่อเนื่องกัน และจบด้วยเครื่องตัด ใช้เวลาผลิตรวมประมาณ 8 ชั่วโมง

แกลลอรี่ สคส 2023 ขนาดใหญ่ A4 A5

สคส ขนาด A4 หรือ A5 แล้วแต่จะชอบ ซื้อไปแจกลูกค้า ลูกค้าจะเอาไปติดบอร์ด สคส เป็นของหายาก สมัยนี้อาจจะไม่ค่อยแจกกันแล้ว ใครแจกก็จะได้พื้นที่โฆษณาบนกำแพงของบริษัท ใครสนใจสั่ง สคส ไปแจกลูกค้า เลือกภาพแล้วแจ้งมาทางอีเมลหรือ ใส่คอมเม้นท์ไว้ใต้โพสท์นี้

การใช้ canva ทำงานส่งโรงพิมพ์

เวลาเราพูดถึงการทำอาร์ตเวิร์คเพื่อส่งโรงพิมพ์ เราจะนึกถึงไฟล์ดิจิทัลในคอมพิวเตอร์ ทำภาพหรือตัวหนังสือให้ได้อย่างที่ต้องการแล้วส่งทั้งไฟล์ที่ทำเสร็จไปให้โรงพิมพ์เลย และหลังจากนั้นเราก็คาดหวังว่าโรงพิมพ์จะพิมพ์งานได้เรียบร้อย ซึ่งนี่เป็นโลกอุดมคติ ทุกคนและโรงพิมพ์ก็อยากอยู่ในสถานการณ์แบบนี้

ในความเป็นจริงโรงพิมพ์ไม่ได้ทำงานได้ราบลื่นแบบที่คิด เพราะข้อมูลที่ส่งจากนักออกแบบด้วยคอมพิวเตอร์มักจะมาไม่ครบ ตั้งแต่ ไฟล์ภาพที่มาไม่ครบ บางครั้งมาครบก็ไฟล์คุณภาพต่ำ ความละเอียดน้อยเกินไปสำหรับงานพิมพ์ และที่มักเป็นปัญหาบ่อยครั้งคือ ตัวหนังสือเพี้ยน นักออกแบบมือสมัครเล่นส่วนมากจะเลือกใช้ตัวหนังสืออย่างอิสระ เพราะออกแบบเองจะเลือกใช้อะไรก็ได้ และมันก็ควรเป็นอย่างนั้น แต่ในตอนที่จะส่งไฟล์ให้โรงพิมพ์ก็มักจะลืมไปว่า ตัวหนังสือแปลกประหลาดหรือตัวหนังสือแสนสวยที่เราเลือก โรงพิมพ์อาจไม่มีตัวหนังสือแบบนี้อยู่ในเครื่องคอมพิวเตอร์ของโรงพิมพ์ก็ได้ เพราะตัวหนังสือแสนสวยมักเป็นตัวหนังสือที่ต้องเสียเงินซื้อ และบางครั้งตัวหนังสือแสนสวยก็เป็นสิ่งหายาก นักออกแบบไปหามาจากไหนก็ไม่รู้ โรงพิมพ์ไม่สามารถหาตัวหนังสือเหล่านั้นได้ตามที่ลูกค้าต้องการ

นอกจากภาพที่มาไม่ครบ คุณภาพต่ำ และตัวหนังสือเพี้ยนแล้ว ยังมีอีกเหตุการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นบ่อยที่สุดคือ ไฟล์ไม่ได้ทำตัดตกมา ในวงการออกแบบสิ่งพิมพ์จะเรียกว่า breed ซึ่งโรงพิมพ์ระดับมืออาชีพจะต้องการไฟล์ที่ออกแบบมาพร้อม breed นั่นคือไฟล์งานมีตัดตกเรียบร้อย แต่นักออกแบบมือใหม่ส่วนมากไม่เคยรู้ว่าต้องมีตัดตก และไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไรให้มีตัดตก

Screen Shot 2565-10-10 at 11.14.30

คำว่าตัดตกคือสิ่งที่มีเอาไว้ตัดออกเมื่อตอนพิมพ์เสร็จ ยกตัวอย่างการทำงานนามบัตรจะได้เข้าใจ นามบัตรมาตรฐานจะมีขนาด 5.5x9cm ซึ่งเป็นขนาดที่ทุกคนรับรู้ และสมุดใส่นามบัตรก็ต้องใส่กระดาษชิ้นนี้ได้ ในการออกแบบนักออกแบบก็มักจะสร้างไฟล์ที่มีขนาด 5.5x9cm แล้วส่งให้โรงพิมพ์ ถามว่าโรงพิมพ์จัดพิมพ์ได้ไหม ตอบว่าได้ แต่จะตัดขอบให้สวยงามไม่ได้เลย เพราะการตัดกระดาษจะมีระยะการตัดที่ผิดพลาดได้ 0.1-0.5มม. ข้อมูลที่อยู่ในกระดาษใบนี้ก็อาจจะแหว่ง หรือ อะไรที่เคยถูกวางไว้ติดขอบกระดาษ เมื่อตัดออกมาก็อาจจะเห็นว่าไม่ติดขอบ อย่างนามบัตรที่มีรูปผลไม้ติดขอบซ้ายและขอบบน หากเราส่งภาพมะม่วงไม่เต็มลูกอย่างภาพบนไปให้โรงพิมพ์ โรงพิมพ์ก็จะพิมพ์มะม่วงไม่เต็มลูกออกมา แต่ตอนตัดขอบเป็นใบๆ มีโอกาสที่จะตัดแหว่งแล้วมีขอบขาวอยู่ด้านซ้ายของมะม่วง

Screen Shot 2565-10-10 at 11.16.07

ในโรงพิมพ์หากต้องงานขนาด 5.5x9cm เราจะพิมพ์มันในขนาด 6.1×9.6 cm แล้วตัดขอบออกด้านละ 3มม. นั่นก็หมายความว่าเราต้องออกแบบในโปรแกรมให้มีข้อมูลขนาด 6.1×9.cm ส่วนที่เกินไปจาก 5.5x9cm เราจะเรียกว่ามีตัดตก 3มม. หรือมี breed 3mm การตัดขอบออกเล็กน้อยเพื่อให้ได้งานตามที่ออกแบบเป็นสิ่งที่จำเป็นมากสำหรับการทำงานสิ่งพิมพ์ โปรแกรมออกแบบที่นักออกแบบคุ้นเคยอย่าง Adobe illurtrator หรือ Adobe indesign ก็จะต้องมีการตั้งค่า breed เพื่อการทำงานที่จะส่งไปพิมพ์ได้ตรงตามมาตรฐานของการพิมพ์ ภาพนามบัตรที่มีมะม่วงเต็มใบพร้อมเส้นสีดำที่เป็นตำแหน่งตัดกระดาษคือภาพที่มีตัดตก งานมีตัดตกจะทำให้การผลิตทำได้ตามที่ออกแบบไว้

Screen Shot 2565-09-15 at 08.59.50

Screen Shot 2565-09-15 at 09.00.02

ในยุคปัจจุบันโลกเรามีคนทำซอร์ฟแวร์พวกนี้ให้ง่ายขึ้น เรามีเว็บไซต์ canva.com ที่ช่วยออกแบบได้อย่างรวดเร็ว นักออกแบบมือใหม่สามารถทำงานกราฟิคทางอินเทอเน็ต ไม่ต้องซื้อโปรแกรมให้สิ้นเปลืองก็สามารถออกแบบสิ่งพิมพ์ได้ และการใช้ canva ออกแบบนามบัตรก็ได้รับความนิยมมากเช่นกัน ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาโรงพิมพ์ได้รับงานอาร์ตเวิร์คนามบัตรที่ทำจาก canva หลายงาน และทุกงานที่ส่งมาจะไม่มีตัดตกเลย เพราะ canva ตั้งให้ไม่มีตัดตกเป็นค่าเริ่มต้น ซึ่งหากเราตั้งใจจะทำไฟล์เพื่อส่งพิมพ์ในโรงพิมพ์ เราจะต้องตั้งค่า canva ในหน้าเว็บให้มีการ export ไฟล์ดิจิทัลแบบมีตัดตกเพื่อส่งโรงพิมพ์ และอ๊อพชั่นนี้ canva ก็เตรียมเอาไว้ให้เรียบร้อยแล้ว

การส่งไฟล์ที่ออกแบบมาอย่างเรียบร้อย มีตัดตกสำหรับการผลิตในโรงพิมพ์จะช่วยให้เจ้าของงานได้งานที่มีคุณภาพ เพราะโรงพิมพ์ทุกแห่งอยากผลิตงานที่มีคุณภาพที่สุดอยู่แล้ว ลองดูศึกษาวิธีทำตัดตกในโปรแกรมที่เราใช้งานออกแบบสิ่งพิมพ์ดูนะครับ

พิมพ์ป้ายสำหรับร้อยกับสินค้า

ลูกค้าโรงพิมพ์ต้องการจะทำของชิ้นหนึ่งเป็นสินค้าที่ระลึก และออกแบบให้มีป้ายกระดาษเนื้อสวยชิ้นเล็กๆ เจาะรู ร้อยเชือกแล้วติดไว้กับสินค้า ก็เลยนำอาร์ตเวิร์คมาพิมพ์กับกระดาษเนื้อดี เป็นงานชิ้นเล็ก ผลิตจำนวนไม่มาก จะใช้กระดาษราคาสูงหน่อยก็ไม่ได้รู้สึกเปลืองมาก และเมื่องานเสร็จก็ดูดีน่าจับต้อง

IMG_0373

กระดาษชิ้นนี้ใช้กระดาษเนื้อหนา ในทางโรงพิมพ์เราจะเรียกกระดาษเนื้อฟู กระดาษมี texture หรือผิวสัมผัสเป็นลักษณะเนื้อสากแต่ละเอียด ไม่ใช่ของคุณภาพต่ำ มีบางคนนำกระดาษตัวนี้ไปใช้กับงานวาดรูปสีน้ำ ส่วนงานพิมพ์ครั้งนี้ใช้วิธีพิมพ์ระบบดิจิทัล ลักษณะเด่นของงานพิมพ์ดิจิทัลในโรงพิมพ์ก็คือ ตัวงานจะพิมพ์แล้วไม่ต้องรอแห้ง เพราะหมึกระบบดิจิทัลแบบของเราจะแห้งตัวด้วยความร้อน เมื่อกระดาษไหลออกจากเครื่องคือแห้งสนิท และ
โดนน้ำก็ไม่เป็นไร หากเอาไปแช่น้ำหมึกก็จะไม่ละลาย เราจะไม่ต้องเคลือบผิวกระดาษด้วยแผ่นฟิล์มแบบเครื่องพิมพ์อิงค์เจ๊ท ทำให้เราสามารถโชว์เนื้อกระดาษได้

1663169772534

เจ้าของไอเดียนำไปติดกับผ้าชิ้นหนึ่งที่สวยมาก และจะใช้งานโดยการแจกเป็นของที่ระลึกให้กับลูกค้าของบริษัท กระดาษสวย ของสวย ถ่ายภาพสวย ทุกอย่างก็ลงตัว สร้างความรู้สึกสวยงามให้กับคนเห็นทั้งผู้ให้และผู้รับ

1663169773801

ออกแบบโลโก้และแบนเนอร์

วันนี้พี่คนหนึ่งที่ทำอาชีพนักบัญชี ได้ขอให้ช่วยออกแบบโลโก้บริษัทเพื่อใช้ในงานบรรยาย และออกแบบแบนเนอร์เพื่อใช้เป็นข้อมูลโปรโมชั่นเพื่อแสดงบนจอภาพ ก็เลยจัดการออกแบบและทำแบนเนอร์ออกมา

Artboard 1

การออกแบบโลโก้ ออกแบบให้มีความหมายถึงการเก็บออม สำนักงานบัญชีที่ให้บริการลูกค้าแล้วจะทำให้ลูกค้ามีเงินเยอะขึ้น ก็เลยเลือกให้มีตัวเหรียญอยู่ในโลโก้ด้วย ส่วนสีก็เลือกค่าสีที่ดูสดใส และตั้งใจว่าจะใช้โลโก้นี้บนฉากสีขาว หรือบนกระดาษขาว เลยไม่อยากให้มีสีดำอยู่ในโลโก้ เพื่อไม่ใช้รู้สึกว่ามีคอนทราสต์แรงเกินไป

เมื่อได้โลโก้แล้วก็เอามาทำแบนเนอร์เพื่อใช้เป็นสื่อเพื่อเผยแพร่ ตั้งใจทำให้เป็นทรงจตุรัสเพื่อให้แสงผลในหน้าจอโทรศัพท์มือถือได้อย่างไม่ต้องระวังเรื่องแนวตั้งแนวนอน และยังใช้เผื่อโพสท์ในโซเชียลเน็ตเวิร์คด้วย บางระบบชอบให้ใช้ภาพจตุรัส ก็เลยออกมาเป็นทรงนี้

nation accounting promotion-out copy-p2

โปรโมชั่นที่ปล่อยไปในจอภาพ เมื่อถึงเวลาส่งมอบ ก็จะต้องมีวอยเชอร์หรือกระดาษให้ลูกค้าถือเอาไว้ แล้วก็นำกลับมาใช้บริการ จึงออกแบบต่อจากแบนเนอร์ให้เป็นทรงยาวขึ้นเพื่อให้จับถือและใส่ซองจดหมายได้ เลยออกมาเป็นกระดาษแนวตั้ง เนื้อกระดาษเป็นกระดาษนำเข้าเนื้อหนาพิเศษ หาซื้อไม่ได้ตามร้านเครื่องเขียนทั่วไป แต่โรงพิมพ์มีสต๊อคกระดาษตัวนี้เก็บไว้ทำการ์ดเชิญสำหรับเน้นความหรูหราอย่างการ์ดแต่งงาน และการ์ดโปรโมชั่นพิเศษ และเมื่อพิมพ์ออกมาแล้วก็เป็นไปตามที่คาด คือกระดาษสวย เนื้อหาข้อความตรงกับวัตถุประสงค์ของเจ้าของบริษัท ก็ถือว่าจบงาน

IMG_20220909_151800

ทำหนังสือจบไปอีกเล่ม

หนังสือ The power of dreams เป็นหนังสืออีกเล่มหนึ่งที่ได้ทำตั้งแต่ต้นจนจบ ถือว่าเป็นผลงานของสำนักพิมพ์ที่ทำครบวงจร โดยขั้นตอนการทำงานมีดังนี้

20220324122839_IMG_0120_1


1 เราจัดอาร์ตเวิร์คจากเนื้อหาของเจ้าของเรื่องตามโครงร่างเก่าที่มีอยู่ แต่ใช้ภาษาอังกฤษทั้งเล่ม โดยเจ้าของหนังสือใช้บริการผู้เชี่ยวชาญเรื่องการแปลหนังสือจากไทยเป็นภาษาอังกฤษ และส่งข้อมูลการแปลให้สำนักพิมพ์

2 เราทำเรื่องขอเลขทะเบียนอิเล็คทรอนิกส์ ISBN จากหอสมุดแห่งชาติ และลงรายละเอียดในหน้าบรรณานุกรมให้ถูกต้องตามมาตรฐาน และหนังสือเล่มนี้จะจัดจำหน่ายในร้านหนังสือเอเซียบุ๊คส์

3 ออกแบบปกใหม่ จัดทำบาร์โค้ดสำหรับพิมพ์บนปกหนังสือ

4 เมื่อจัดวางเสร็จแล้วก็ส่งตรวจความถูกต้องโดยจัดทำเป็นหนังสือตัวอย่างขนาดเหมือนจริง จำนวนหน้าเท่าจริง

5 เริ่มขั้นตอนการพิมพ์ พิมพ์ในโรงพิมพ์ของเราเอง

6 เมื่อพิมพ์เสร็จเรียบร้อยก็จัดส่งให้เจ้าของหนังสือ

7 จัดส่งตัวหนังสือเล่มตัวจริงให้หอสมุดแห่งชาติเก็บไว้ด้วย

2022-03-31_10-31-54

ระหว่างที่เริ่มพิมพ์งานบนเครื่องพิมพ์ ทางทีมกราฟิคก็จัดรูปแบบของเนื้อหาภาษาอังกฤษให้อยู่ในรูปแบบของ e-book เพื่อใช้ส่งไปฝากขายในเว็บของ amazon และเจ้าของหนังสือจะต้องไปสมัครใช้ paypal เพื่อเอาไว้รับเงินจากต่างประเทศ เจ้าของหนังสือยังเล่าให้ฟังว่าเขามีแผนจะนำไปแจกในงานบรรยายของเขาเอง และการบรรยายบางครั้งก็จะเป็นการบรรยายภาษาอังกฤษ นั่นทำให้หนังสือภาษาอังกฤษเล่มนี้ได้ถูกวางแผนการแจกจ่าย ฝากขาย และขายหน้างานสัมมนาด้วย

ข้อดีของการทำหนังสือเพื่อวางขายก็คือ

1 ได้รวบรวมความคิดความรู้ของเราที่ตกผลึกแล้ว มีคุณค่าพร้อมจะถ่ายทอดให้ผู้อื่น การจัดทำเป็นหนังสือคือการจัดระเบียบและจัดเก็บในรูปแบบที่ใช้งานง่ายเข้าถึงได้ง่าย

2 ทำเอง ส่งขายเอง ลิขสิทธิ์เป็นของเราเอง รายได้จะไม่ต้องแบ่งใคร พิมพ์ซ้ำ หรือ พิมพ์แจก ก็เป็นสิทธิ์ของเราเอง

3 ใช้แจก ใช้เป็นของขวัญ เป็นคุณค่าที่มอบให้ผู้รับในวันสำคัญต่างๆ สวัสดีปีใหม่ด้วยหนังสือของตัวเอง เท่ห์สุดยอด

4 ได้รับการยอมรับระดับสูง เพราะการทำหนังสือขายน่าเชื่อถือกว่าการโพสท์โฆษณาในฝั่งออนไลน์แต่เพียงอย่างเดียว

การทำหนังสือสักเล่มหนึ่งไม่ใช่เรื่องยาก สิ่งที่ยากกว่าทุกขั้นตอนคือ การตัดสินใจที่จะเริ่มแบ่งปันความรู้ และเมื่อพร้อมที่จะเริ่มทำแล้วขั้นตอนที่เหลือเป็นสิ่งที่หาคนช่วยทำได้ทุกขั้นตอน

S__2072603

S__2072604

ครบ 10 ปี เครื่องพิมพ์อ๊อพเซ็ท

IMG_0089

โรงพิมพ์ของผมซื้อเครื่องพิมพ์อ๊อพเซ็ท 4 สี มือสองเข้ามาใช้งานตั้งแต่ช่วงปี 2554 ซึ่งเป็นปีที่ประเทศไทยมีภัยน้ำท่วมใหญ่ และเป็นปีที่พ่อผมเสียชีวิตจากโรคมะเร็งในช่วงปลายปี พ่อผมมีโอกาสได้เห็นเครื่องพิมพ์ 4 สี วางอยู่ในโรงพิมพ์ ผมรู้สึกว่ามันเป็นความสำเร็จของคนปากกัดตีนถีบคนนึงที่ดิ้นรนทำมาหากินและสร้างครอบครัว ส่งลูกเรียนจบและมีอาชีพทิ้งไว้ให้ลูกหลาน

DSCF4375


เครื่องพิมพ์ไฮเดลเบิร์ก เป็นเครื่องพิมพ์มือสอง ผมไม่รู้ประวัติของเครื่องนี้เท่าไหร่นัก แต่มันมาตั้งในโรงพิมพ์ในตอนที่มิเตอร์บนเครื่องชีไปไป 47327770 รอบ ซึ่งผมถ่ายภาพนี้ไว้ในวันที่ 16ธันวาคม2554

20111216_173452

เวลาเลยผ่านมาเหมือนไม่นาน รู้ตัวอีกทีก็ครบ 10 ปี มันเป็น 10 ปีที่มีความเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง เรามีช่วงเวลาที่ทำงานไม่ทัน งานล้นมือ เรามีช่วงเวลาที่งานซบเซา บางวันต้องปิดเครื่อง ปิดไฟโรงงาน และในช่วงที่มีโควิดระบาดหนักๆ ช่างพิมพ์หลายคนในโรงพิมพ์ก็ต้องหยุดงานเพราะติดเชื้อ โรงพิมพ์ทำงานต่อไม่ได้ งานบางงานต้องไปขอให้โรงพิมพ์อื่นช่วยเหลือช่วยพิมพ์ให้

วันที่ครบ 10 ปี คือ 16ธันวาคม2564 ผมถ่ายภาพนี้เก็บไว้อีกครั้ง

2021-12-16_05-02-45

มิเตอร์ขึ้นเลข 77740023 ซึ่งพอนำมาคิดหักลบกับตัวเลขเริ่มต้นแล้ว ก็จะได้

77740023 – 47327770 = 30412253 หรือประมาณ 30 ล้านรอบ

ตัวเลข 30 ล้านรอบนี้บอกอะไรเราบ้าง

ถ้านับงานกระดาษใบปลิว A4 พิมพ์ 2 หน้า เราจะพิมพ์งานนี้ไปแล้ว 60 ล้านใบ ผมก็ไม่รู้ว่ามันมากหรือน้อย เครื่องพิมพ์เครื่องนี้ทำเงินให้เราเกินค่าตัวของมัน แม้ว่าธุรกิจสิ่งพิมพ์จะเป็นดาวร่วงในมุมมองของนักบริหารและนักการตลาด แต่เราก็ยังคงต้องทำอาชีพนี้อยู่ และปรับเปลี่ยนงานพิมพ์ไปพิมพ์สิ่งที่ผู้คนยังต้องใช้งาน หนังสือพิมพ์ไม่มีคนซื้อแล้ว เราก็ไม่ต้องพิมพ์ นิตยสารขายไม่ได้แล้วเราก็ไม่ต้องพิมพ์ ซึ่งสองอย่างนั้นก็ไม่เคยเป็นงานของโรงพิมพ์เราอยู่แล้ว แต่ประเทศเรายังต้องการกล่องใส่อาหาร กล่องใส่ขนม อาหารเสริม เครื่องสำอางค์ ยังต้องการโบรชัวร์ ยังต้องมีเอกสาร คู่มือผลิตภัณฑ์ ยังต้องมีหนังสือให้ความรู้ พ็อกเก็ตบุ๊ค นิยาย การ์ตูน หนังสือเรียน ยังมีสติ๊กเกอร์อีกหลายชนิดสำหรับติดกล่อง ติดขวด ติดตามสินค้าและกล่องต่างๆ

เทคโนโลยีทางการพิมพ์ของโลกเราเริ่มต้นจากการเรียงพิมพ์ด้วยตัวหนังสือโลหะ จาก letterpress สู่การพิมพ์ offset และเป็นระบบดิจิทัลในปัจจุบัน ที่น่าทึ่งก็คือ ทุกเทคโนโลยียังคงมีอยู่ในปัจจุบัน ไม่มีของใหม่ที่ไปทำลายของเก่า ในโรงพิมพ์เรายังมี letterpress ที่ขาดไม่ได้ ยังมี offset ที่เป็นกำลังหลักของวงการพิมพ์ และมีดิจิทัลสำหรับงานเร่งด่วนและพิมพ์ข้อมูลที่เปลี่ยนแปลงไปทุกใบได้ ทุกเทคนิคการพิมพ์ในปัจจุบันยังคงมีบทบาทอยู่ วงการพิมพ์ไม่ได้ล่มสลาย การปรับตัวของผู้บริโภคทำให้ความจำเป็นในการใช้สิ่งพิมพ์เปลี่ยนรูปแบบไป สิ่งที่แน่นอนก็คือ ไม่มีใครซื้อขนมที่ไม่มีแพ็คเกจห่อหุ้ม ไม่มีใครซื้อยากินเป็นเม็ด ทุกคนต้องการของกินที่อยู่ในหีบห่อหรือในกล่อง ไม่ใช่แค่ของกิน แต่ของขายในห้างในมาเก็ตเพลสก็ต้องการหีบห่อและเอกสารประกอบทั้งนั้น โลกเรายังต้องมีสิ่งพิมพ์

ทำนามบัตรแบบมี qr code

Qr code ได้รับความนิยมในการใช้งานอย่างมากในยุค 5g ทั้งระบบการเงิน ระบบการบอกตำแหน่ง และการใช้งานอเนกประสงค์ หาเราบันทึกข้อมูล contact ที่มีรายละเอียด ชื่อ เบอร์โทร อีเมล เป็น qr code แล้ว เราก็สามารถนำไปวางไว้ในนามบัตรได้ และผู้ที่รับนามบัตรไปก็สามารถใช้โทรศัพท์มือถือหรือแท็บเบล็ตสแกน ข้อมูลก็จะแสดงขึ้นมา และสามารถเลือกยันทึกลงโทรศัพท์ได้เลย

ลองทำหนังสืออ่านเล่น

หลังจากที่ได้เขียนบล๊อกแห่งนี้มาประมาณสิบปี มีบทความหลากหลายชนิด ก็เลือกบางอย่างมารวมเป็นเป็นเล่ม แล้วลองจัดวางออกแบบให้เป็นหนังสือ เนื้อหาที่เลือกมาจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับอวกาศและดวงดาว เป็นการรวมเรื่องมาใส่หนังสือทันทีเลย ยังไม่ได้ปรับแต่ง หรือดัดแปลงสิ่งที่เขียน เพราะอยากรู้ว่า เนื้อหาเกี่ยวกับดวงดาวที่เคยเขียนนั้นจะเยอะพอไหมสำหรับการรวมเล่มเป็นหนังสือ

IMG_20211020_072459

เมื่อลองพิมพ์เป็นเล่มออกมาก็ได้หนังสือความหนาประมาณ 65หน้า โดยมีรูปประกอบอยู่บ้าง ด้วยความที่มีเครื่องพิมพ์ดิจิทัลใช้งานอยู่ การพิมพ์หนังสือแค่เพียง 1 เล่มเพื่อทำเป็นตัวอย่างก็เป็นเรื่องง่าย แถมยังมีเครื่องไสกาวอีกด้วย ทำให้หนังสือแบบพ็อกเก็ตบุ๊คเข้าเล่มไสสันทากาวแบบนิตยสารก็ทำได้ไม่ยากเลย

ลองเอาหนังสือให้ลูกอ่าน ลูกก็อ่านแล้วยิ้มๆ บางตอนเป็นเนื้อหาที่พ่อคุยกับลูกในตอนที่เขาอายุสัก 6 ขวบ พอมาอ่านตอน 9 ขวบ บางตอนก็ทำให้เขาหันหน้าขึ้นมายิ้ม แล้วถามกลับมาว่า วันนั้นพ่อหลอกเขาเหรอ ผมก็บอกเปล่า บางเรื่องตอนนั้นต้องเล่าแบบนั้น งานเขียนต้องเลือกเขียนสิ่งที่น่าอ่าน งานเล่าต้องเล่าสิ่งที่น่าฟัง มารยาของช่างภาพก็ต้องทำให้ภาพสวย มารยาของนักเขียนก็ต้องชักจูงให้คล้อยตาม บรรยายให้เห็นภาพ งานหนังสือเป็นงานศิลปะการเล่าเรื่อง

เนื้อหาในหนังสือตามภาพคือเรื่องนี้

พิมพ์กระดาษห่อขนมแบบระวังโควิด

โควิด19 ระบาดทั่วโลก ในไทยก็ยับเยิน ติดเชื้อกันวันละหลายหมื่นคน เดือนสิงหาคมปี พศ 2564 นี้มีคนตายวันละสองร้อยกว่าคน เป็นเรื่องเศร้าของทุกครอบครัว ธุรกิจหลายอย่างชะงักงัน งานโรงพิมพ์ก็หดหาย แถมมีช่วงเวลาที่พนักงานในโรงงานมีการติดเชื้อ ต้องหยุดรักษาตัว คนยังไม่ติดก็ต้องกักตัว ถึงเราจะยังไม่ตาย แต่รายได้ก็หยุด ไม่ตายจากโควิดก็อาจจะตายจากการไม่มีรายได้

IMG_0050

ในระหว่างที่เรายังอยู่ในวิกฤติโรคระบาด งานพิมพ์หลายอย่างก็ยังคงต้องทำ และเราก็ต้องปรับตัวด้วยเช่นกัน วันนี้เรากำลังพิมพ์งานกระดาษห่อขนม เป็นออเดอร์ลูกค้าใจดีจากพัทยา งานพิมพ์ใช้กระดาษเคลือบพิเศษสำหรับห่อหุ้มอาหาร เราระวังกันเต็มที่ที่จะไม่สัมผัสกระดาษเลย เพราะเราอยากให้กระดาษไม่สัมผัสมือใครเลยก่อนจะถึงลูกค้า เราก็พยายามใส่หน้ากาก ใส่ถุงมือยาง ช่างตัด ช่างพิมพ์ เด็กห่อของ ทุกแผนกต้องระวังเต็มที่ เราทำโดยคิดอยู่ในใจว่า ถ้าลูกเราไปซื้อขนมปังกิน เราอยากให้ลูกเราได้ห่อขนมแบบไหน แบบที่ปลอดเชื้อ หรือ แบบที่อะไรก็ได้ ไม่ต้องสนใจเรื่องเชื้อไวรัส แน่นอนเราอยากให้กระดาษไม่มีเชื้อ และเราก็พยายามจะทำกระดาษห่อขนมใบนี้ในแบบที่เราอยากได้

ขอบคุณลูกค้าใจดีอีกครั้งที่ช่วยอุดหนุนเรา ช่วยธุรกิจสิ่งพิมพ์ เราหวังว่าประเทศไทยจะผ่านพ้นโรคระบาดนี้ไปได้แบบเรายังพอมีอาชีพ มีงานทำ