รวมภาพจาก ZV-1f สไตล์ฟิล์ม

กล้องคอมแพ็คของ Sony รุ่น ZV-1f เป็นกล้องที่มีโหมดสี FL หรือ ย่อมาจากคำว่า Film look ซึ่งเป็นสไตล์สีที่ทำเลียนแบบภาพจากฟิล์ม อดีตเวลาเราถ่ายภาพด้วยฟิล์ม หากต้องการจะดูภาพเราก็ต้องอัดภาพมาเป็นกระดาษ และหากจะดูภาพในจอคอมพิวเตอร์หรือในสมาร์ทโฟน เราก็ต้องสแกนฟิล์มเป็นไฟล์ภาพ ซึ่งร้านล้างฟิล์มก็จะมีบริการสแกนฟิล์มด้วย บางคนไม่อัดภาพเป็นกระดาษแล้ว ก็จะส่งฟิล์มไปล้าง+สแกนเลย เราก็จะได้ดูภาพจากฟิล์ม

DSC00378

แต่กว่าจะเสร็จสิ้นขบวนการล้างและสแกน ก็ใช้เวลาหลายวัน หรือแม้แต่การไปส่งฟิล์มแล้วนั่งรอ ก็ต้องลุ้นว่าทางร้านจะล้างฟิล์มให้ได้ในวันเดียวไหม ความไม่สะดวกเรื่องเวลาทำให้กล้องดิจิทัลที่ให้ภาพสไตล์ฟิล์มได้เริ่มน่าสนใจ และก็พบว่าใน ZV-1f มีโหมดภาพสไตล์ฟิล์มมาให้ช่างภาพที่นิยมภาพจากฟิล์มได้มีของเล่นติดตัวชิ้นใหม่

นอกจากภาพสไตล์ฟิล์มแล้ว เรายังสามารถเลือกสไตล์สีแบบนี้ตอนถ่ายวิดีโอได้ด้วย ทำให้เราได้ภาพเคลื่อนไหวที่ดูคล้ายฟิล์มเช่นกัน และมันก็ดูเป็นสีสันที่น่ามอง เหมือนภาพจากโรงหนัง เหมือนภาพงานหนังอาร์ตที่มีสีอมเขียวอมฟ้าเล็กน้อย บางคนใช้กล้องโปรตัวใหญ่ถ่ายคลิปทำงานโปรดักชั่นสุดเนี้ยบแล้วในขั้นตอนสุดท้ายก็ย้อมสีทั้งงานให้เป็นสไตล์หนังอาร์ต ซึ่งแนวสีที่ถ่ายคลิปได้เหมือนหนังอาร์ตมีให้ใช้ตรงๆ เราได้ภาพสีอาร์ตในขั้นตอนการถ่ายเลย จบหลังกล้องจริงๆ

DSC00398

กล้อง ZV-1f มีจอภาพแบบ flip บิดกางออก ปรับหมุนเพื่อถ่ายภาพแนวดิ่ง ภาพก้มลงมองจานอาหารได้สะดวก ทำให้ถ่ายภาพของกินได้มุมมองที่แปลกตามากขึ้น จอภาพที่หมุนได้รอบตัวช่วยให้เราจัดองค์ประกอบภาพได้อิสระมาก แม้แต่การบิดจอเพื่อถ่ายตัวเอง ก็เป็นเรื่องที่ทำได้สะดวก เหมาะกับการทำงานคนเดียว ถือกล้องเอง ดูจอเอง เลือกมุมกล้องเอง ไม่ต้องใช้อุปกรณ์เสริมให้รุงรัง

DSC00517

การถ่ายคลิปวิดีโอด้วยเฟรมภาพสูงระดับ 120ภาพต่อวินาทีหรือ 120fps แล้วนำมาเล่นกลับในความเร็ว 30 ภาพต่อนาที ก็จะได้ภาพสโลว์ที่สวยงาม เหมาะกับเหตุการณ์ที่มีการเคลื่อนไหวเร็ว และยิ่งมีสไตล์สีที่ดูเป็นโทนหนังอาร์ต ก็ทำให้คลิปดูน่าสนใจมากขึ้น

DSC00631
DSC00627

ด้วยเลนส์ติดกล้องเป็นเลนส์รูรับแสงกว้างระดับ f2 ทำให้การถ่ายภาพในที่แสงน้อยเป็นเรื่องง่าย เพราะความไวแสงของเลนส์และการตั้งค่า iso ที่สูงขึ้นโดยสัญญาณรบกวนน้อยตามสไตล์กล้องยุคใหม่ ภาพบรรยากาศในโรงแรมที่มีแสงไม่เยอะมากก็เก็บภาพได้ เล่าเรื่องด้วยสไตล์สีที่น่ามองได้

DSC00637

เลนส์มุมกว้างเทียบเท่ากับเลนส์ 20มม. เป็นเลนส์ที่ให้ภาพดูยิ่งใหญ่ อลังการ เหมาะกับการถ่ายในที่แคบแล้วเก็บภาพได้เหมือนตาเห็น เรายืนคุยกับใคร มองอะไร เรายกกล้องถ่ายด้วยเลนส์ 20มม. เราจะได้วัตถุที่เรามองเห็นอยู่ในภาพเลย โดยไม่ต้องถอย

DSC00570

สรุป

สไตล์ภาพ FL หรือ Film Look เป็นสไตล์สีที่เลียนแบบภาพจากฟิล์ม ให้โทนภาพอมเขียวอมฟ้าดูคล้ายภาพจากหนังหรือมิวสิควิดีโอที่แต่งสีหรือปรับสีมาแล้ว เป็นการทำสีเสร็จในกล้องเลย ถ่ายเสร็จก็ได้ภาพสีที่ต้องการเลย ไม่ต้องไปเสียเวลาทำต่อในโปรแกรมตัดต่อ เหมาะกับช่างภาพหรือคนที่ต้องการลดขั้นตอนการทำงานให้น้อยที่สุด ทีมงานตัวคนเดียวควรจะมีอุปกรณ์แบบนี้ใช้งาน

DSC02230
DSC02168
DSC01788
DSC01696
IMG_20240331_212007
DSC01735
DSC01602
IMG_20240318_104825
1710671844668

การสแกนฟิล์มด้วย DigitaLIZA

หลักการของการสแกนฟิล์มในยุคดิจิทัลก็คือ ทำให้แสงส่องผ่านฟิล์ม แล้วเอากล้องดิจิทัลมาถ่ายภาพแผ่นฟิล์มนั้น จากนั้นก็ไปเข้าโปรแกรมปรับแต่ง ถ้าถ่ายภาพฟิล์มเน็กกาทีฟ ก็ต้องกลับสีให้เป็นโพสิทีฟเสียก่อน ถ้าสแกนฟิล์มขาวดำ ก็ต้องใช้การปรับ อินเวิต เพื่อกลับขาวเป็นดำ ดำเป็นขาว และถ้าสแกนฟิล์มสไลด์ ก็ไม่ต้องกลับสีเลย แค่ปรับความสว่างอีกเล็กน้อยก็ได้ภาพที่ดีแล้ว

1สแกนฟิล์มขาวดำด้วยกล้องดิจิทัล

2สแกนฟิล์มสไลด์ด้วยมือถือ

3การสแกนภาพจากฟิล์มขาวดำด้วยเครื่องอัดภาพ

4การทำcontactsheet ขาวดำจากฟิล์ม

สแกนฟิล์มขาวดำด้วยกล้องดิจิทัล

20191211160947_IMG_0171
20191211160947_IMG_0171-01

ฟิล์มขาวดำเมื่อผ่านการล้างมาเรียบร้อยแล้ว เราจะยังคงไม่ได้เห็นภาพที่เราต้องการ จะต้องมีการอัดภาพลงบนกระดาษเสียก่อน หรือ หากเราไม่ต้องการอัดภาพเป็นกระดาษ เราก็ยังสามารถใช้วิธีสแกนฟิล์มให้เป็นไฟล์ดิจิทัลได้ การสแกนฟิล์มจำเป็นต้องมีสแกนเนอร์สำหรับสแกนฟิล์ม ซึ่งราคาก็สูงมาก แต่ปัจจุบันเรามีทางเลือกอื่นในการสแกนคือการถ่ายภาพฟิล์มด้วยกล้องดิจิทัล

การถ่ายภาพฟิล์มด้วยกล้องดิจิทัลจะทำให้เราได้ไฟล์ดิจิทัลไม่ต่างจากการสแกนฟิล์มเลย อาศัยเลนส์ที่ถ่ายภาพระยะใกล้ได้หรือเลนส์มาโคร ทำงานร่วมกับกล้องดิจิทัล เราก็จะได้ภาพถ่ายฟิล์มเน็กกาทีพออกมา แล้วหลังจากนั้นเราก็จะนำไฟล์ภาพไปประมวลผลต่ออีกครั้ง เพื่อกลับสีจากเน็กกาทีฟให้เป็นสีขาวดำปกติ

ความสนุกของการถ่ายภาพ

การถ่ายภาพด้วยฟิล์มขาวดำเป็นสิ่งที่ให้ความรู้สึกได้ดีสุดๆในบรรดาความบันเทิงจากการถ่ายภาพ ช่างภาพจำนวนมากมีความสุขจากการได้กดชัตเตอร์ บางคนมีความสุขจากการได้จับกล้อง ผมเองก็มีความสุขจากการได้บันทึกภาพที่เป็นจังหวะหายาก แม้ว่าดิจิทัลจะทำหน้าที่ได้ดี แต่การมีฟิล์มบันทึกก็เป็นสิ่งที่ผมชื่นชอบมากกว่า เพราะอะไรที่มันซับซ้อน ใช้ความสามารถ ใช้เวลา มันจะอยู่ในความรู้สึกไปได้นานกว่า

IMG_20191208_213222

ถ้าลองย้อนนึกดู เราจะเคยเห็นภาพถ่ายแต่งงานของพ่อแม่ เราจะเคยเห็นภาพสมัยเราเป็นเด็ก ในยุคนั้นจะเป็นการถ่ายภาพด้วยฟิล์มและอัดภาพออกมาเป็นกระดาษ ทุกวันนี้ภาพเหล่านั้นยังอยู่ มันยังคงอยู่ในลิ้นชักสักตัวในบ้าน และมันอาจจะวางไว้ใกล้ๆกับฟิล์มที่ใส่ไว้ในซองกระดาษ มันคงวางอยู่ข้างๆกัน

เราเดินผ่านมุมนั้นแล้วเราก็หยิบอัลบั้มภาพมาดูได้ นั่นคือความดีงามของการมีภาพบนกระดาษ ขณะที่กล้องดิจิทัลที่ให้ภาพแสนสมบูรณ์ แสงสวย สีสวย ปรับแต่งได้ตามใจ แต่เราแทบจะไม่อัดภาพเป็นกระดาษเลย ถ้าเราไม่มีคอมพิวเตอร์ ถ้าคอมพิวเตอร์เสีย หรือฮาร์ดดิสก์พัง เราก็ไม่สามารถดูภาพดิจิทัลเหล่านั้นได้อีกเลย

ผมมีภาพนี้เป็นฟิล์ม แม้จะไม่ได้อัดลงบนกระดาษ แต่ผมก็มีฟิล์ม คอมพิวเตอร์เสีย ฮาร์ดดิสก์เสีย อินเทอเน็ตล่ม ผมก็ยังมีฟิล์ม ผมใช้คอมพิวเตอร์ดูภาพก็จริง แต่ก็มีต้นฉบับเป็นฟิล์มเก็บไว้ วันที่ผมขยันและหัวใจพร้อม ผมก็แค่เข้าห้องอัดภาพขาวดำ อัดภาพแช่น้ำยาแล้วก็ได้กระดาษที่มีภาพออกมา หรือแม้แต่การสแกนภาพแล้วพิมพ์ออกมาบนเครื่องพิมพ์สักตัวก็ทำได้

IMG_20191211_162546

บางทีความสนุกของการถ่ายภาพก็คือขั้นตอนการผลิตภาพ ยิ่งมีขั้นตอนเยอะ เราก็ยิ่งได้อยู่ในเวลาแห่งความสุขนานเท่านั้น

ขุดฟิล์มเก่า 6x6cm มาดูภาพ

การถ่ายภาพด้วยฟิล์มในยุคที่ดิจิทัลเบ่งบานนั้นเป็นเรื่องที่ยากมาก เพราะร้านขายฟิล์มก็น้อยลง ร้านล้างอัดก็น้อยลง และยิ่งหากเป็นการถ่ายภาพขาวดำด้วยแล้ว ยิ่งหาร้านล้างฟิล์มได้ยากมาก คนถ่ายภาพขาวดำแทบจะต้องหัดล้างฟิล์มเองด้วย เพราะการล้างฟิล์มขาวดำมักจะต้องทำด้วยมือ และร้านล้างฟิล์มส่วนมากก็ไม่อยากทำแล้ว

IMG_20210610_080758

ฟิล์มขาวดำชนิดสัดส่วน 6x6cm นั้นเป็นระบบการถ่ายภาพที่เป็นที่นิยมในวงการมืออาชีพ เพราะการได้ฟิล์มใหญ่คือข้อได้เปรียบของอัดภาพ สแกนภาพ และกล้องที่จะใช้กับฟิล์ม 6x6cm หรือ บางคนเรียกว่าฟิล์ม 120 ก็จะเป็นกล้องขนาดเทอะทะมาก ส่วนการล้างฟิล์มด้วยตัวเองก็เป็นเรื่องลำบากมากกว่าฟิล์ม 135 เพราะว่า ฟิล์มใหญ่ ต้องใช้รีลใหญ่ แท็งค์ใหญ่ ใช้น้ำยาเยอะ 2 เท่าเมื่อเทียบกับฟิล์ม 135 นั่นแปลว่า เราต้องซื้อแท็งค์ใหญ่ รีลใหญ่ที่อาจจะไม่ค่อยได้ใช้นั่นเอง

1623306934107-01

ฟิล์มขาวดำ Kodak Tmax ความไว 100 ล้างด้วยน้ำยา Forte ผมจำไม่ได้แล้วว่าล้างที่อุณหภูมิเท่าไหร่ และนานกี่นาที กว่าจะพันฟิล์มเข้ากับรีลสแตนเลสโดยทุกอย่างทำในถุงมืดนั้นก็เป็นเรื่องที่ทำยากมาก ต้องฝึกฝนซ้ำแล้วซ้ำอีกเพื่อจะล้างฟิล์มแค่ 1 ม้วน วิธีฝึกก็ไม่ซับซ้อน เอาฟิล์ม 120 ม้วนอื่นที่ราคาถูก มาทดลองม้วนเข้ารีลสแตนเลสให้เห็นด้วยตาเลย ฟิล์มม้วนนั้นก็จะเสียไปเพราะโดนแสงไปแล้ว แต่ถ้าไม่ทำอย่างนี้เราก็ไม่มีฟิล์มที่จะฝึก จะเอาฟิล์มที่ถ่ายมีภาพแล้วไปฝึกก็ไม่ได้เพราะเราเสียดายภาพ เสียดายโอกาสที่จะได้ถ่ายภาพนั้น

การถ่ายภาพคือการหยุดเวลา หยุดเหตุการณ์เอาไว้ หลายสิ่งหลายอย่างในชีวิตจะเกิดขึ้นครั้งเดียวและไม่เกิดซ้ำ ภาพลูกก็จะเป็นลูกที่ถ่ายแล้ว ไม่สามารถย้อนเวลากลับไปถ่ายได้อีก เพราะเด็กโตแล้วโตเลย หรือแม้แต่ภาพคน คนนั้นตัวจริงอาจจะเปลี่ยนแปลงไปแล้ว แต่คนในภาพยังเป็นคนที่ไม่เปลี่นแปลง

slide-img088

ภาพจากฟิล์ม 120 ถ่ายด้วยกล้อง Yashica 635 เป็นกล้องที่เรียกว่า twin lens มีเลนส์ตัวบนเอาไว้ส่งภาพเช้าช่องมอง มีเลนส์ตัวล่างที่จะส่งภาพเข้าฟิล์ม กล้องตัวนี้เป็นของมือสอง สภาพยับเยิน ตอนได้มาหมาดๆต้องทำความสะอาดและส่งซ่อมเพื่อให้ทำงานได้ปกติ จุดเด่นของกล้องตัวนี้น่าสนใจมาก เพราะมันสามารถใส่ฟิล์มเล็กอย่าง 135 เข้าไปได้ด้วยโดยผ่านอแด๊ปเตอร์ตัวหนึ่ง ซึ่งมีกล้องแค่รุ่นนี้รุ่นเดียวเท่าที่รู้ว่ามีอแด๊ปเตอร์แถมมาด้วย แต่ส่วนมากเจ้าของกล้องมักจะทำอแด๊ปเตอร์หาย และผมก็ไม่เคยได้ลองใช้เลย สุดท้ายก็ขายกล้องออกไปแล้ว ด้วยเหตุผลว่า ผมไม่อยากดูแลกล้องที่ไม่ค่อยได้ใช้ และอีกอย่าง การถ่ายภาพมีความสนุกที่การกดชัตเตอร์และการเลือกเหตุการณ์ที่จะถ่าย กล้องเป็นเพียงอุปกรณ์ที่เราใช้ตอบสนองความคิดเท่านั้น ดังนั้นผมใช้กล้องอะไรก็ได้ความสนุกและความสุขไม่ต่างกัน เลยเลือกจะเก็บไว้แต่กล้องที่ได้ใช้บ่อยๆและดูแลง่ายๆมากกว่า.

ภาพก่อนไปโรงเรียน

1614325933698-01
ก่อนไปโรงเรียน

เช้าวันหนึ่งก่อนจะออกจากบ้านไปโรงเรียน แม่ลูกเตรียมตัวขึ้นรถ วันนี้พ่อไปส่ง ในมือพ่อมีกล้องตัวหนึ่งที่ใส่ฟิล์มไว้ถ่ายเล่น ฟิล์มขาวดำที่ซื้อไว้นานแล้วหลายปี กับกล้องเก่าเก็บที่นานๆใช้ที แม้โทรศัพท์จะเป็นอวัยวะติดมือผู้คน แต่การถ่ายภาพอย่างตั้งใจก็เป็นกิจกรรมที่สนุก การมีภาพธรรมดาในรูปแบบของฟิล์มก็นับว่าเป็นเรื่องไม่ธรรมดาในยุคสมัย 5G.

กล้อง nikon fm2n

เลนส์ nikon 50f1.8

ฟิล์ม ilford pan100

Film developer D76 20องศา 7 นาที

กระดาษอัดภาพ ilford Kentmere

Paper developer Kodak Dektol

IMG_0075
IMG_4834
1613978668855

วิธีดึงฟิล์มออกจากกลัก

การถ่ายภาพด้วยฟิล์มส่วนมากเราก็ใส่ฟิล์มเข้าไปในกล้อง แล้วก็ถ่ายๆๆๆๆๆๆ หมดม้วน กล้องก็จะกรอฟิล์มกลับ หรือ ถ้าเป็นกล้องแมน่วลเราก็ต้องหมุนฟิล์มกลับเอง และเมื่อหมุนฟิล์มกลับเข้ากลักไปแล้วก็นำไปส่งร้านล้างต่อ

แต่ก็มีบางคน บางสถานการณ์ที่เราจำเป็นต้องดึงฟิล์มออกจากกลักอีกครั้ง บางคนเผลอหมุนเล่นแล้วฟิล์มใหม่ๆยังไม่ได้ถ่ายดันหมุนเข้ากลักไปเสียก่อน หรือบางคนอยากจะล้างฟิล์มเองก็ต้องหาวิธีดึงฟิล์มออกจากกลักให้ได้ เพื่อจะนำไปโหลดฟิล์มเข้าแท็งค์ล้างฟิล์ม

การดึงฟิล์มจะมีอุปกรณ์สำเร็จ แต่ถ้าเราไม่อยากซื้อ ก็ใช้วัสดุที่น่าจะหาได้ในบ้านหรือในเซเว่นในร้านเครื่องเขียนแทน ดูตามคลิปวิดีโอได้เลย

รีวิวฟิล์มขาวดำกับกล้อง Harman Reusable Camera

IMG_0488

กล้อง Harman Reusable Camera เป็นกล้องที่ขายมาเป็นเซ็ต แถมฟิล์มมา 2 ม้วน เมื่อปีก่อนผมได้รีวิวกล้องตัวนี้ไปแล้วครั้งหนึ่ง แต่เป็นการรีวิวหรือทดลองใช้กับฟิล์มสี เพราะเจตนาอยากจะเห็นภาพเร็วๆ เนื่องจากการเตรียมอุปกรณ์เพื่อล้างฟิล์มขาวดำจะต้องใช้ของจำนวนมาก และใช้ความพยายามในการล้างฟิล์มเองด้วย ทำให้ตัดสินใจเลือกฟิล์มสีไปก่อนเพื่อความสะดวกและจะได้รู้ผลเร็ว ซึ่งก็ได้เห็นคุณภาพของกล้องราคาไม่แพงตัวนี้กันแล้ว และถือว่าน่าพอใจกับกล้องตัวนี้ กลับไปอ่านรีวิวได้ที่นี่

IMG_4840


กว่าจะได้มีโอกาสใช้ฟิล์มขาวดำในชุดของมันเองก็ผ่านไปอีกหลายเดือน ผมใช้กล้อง Harman
Reusable กับฟิล์มในชุดคือฟิล์ม Kentmere pan400 กลักสีม่วงสวยงาม ฟิล์มตัวนี้เป็นฟิล์มขาวดำ ความไวแสง 400 ต้องล้างด้วยน้ำยาขาวดำแท้ ผมเลือกใช้น้ำยา Kodak D76 ซึ่งเป็นน้ำยามาตรฐานของฟิล์มขาวดำ ตามสูตรของผู้ผลิตจะแนะนำเอาไว้ว่า ถ้าล้างด้วยน้ำยา D76 จะต้องล้างที่อุณหภูมิ 20 องศาเซลเซียส และใช้เวลาล้าง 9.30 นาที

IMG_20210221_074216

และเมื่อล้างเสร็จขั้นตอนทุกอย่างแล้ว ก็เลยสแกนภาพด้วยมือถือ โดยการถ่ายภาพฟิล์มแล้วนำไปปรับแต่งด้วยซอร์ฟแวร์ เพื่อให้ได้ภาพขาวดำออกมา ภาพที่ได้เป็นภาพที่ไม่ค่อยคมชัดนัก อาจจะเป็นเพราะวิธีสแกน หรืออาจจะเป็นเพราะกล้องมีระยะชัดตายตัว ปรับโฟกัสไม่ได้ ทำให้บางภาพที่ถ่ายใกล้กับตัวแบบจะทำให้ภาพดูไม่คมชัด หรือ โฟกัสไม่ตกอยู่บนตัวแบบ

1613868155067-01

ข้อดีของ Harman Reusable Camera คือ มันเป็นกล้องคอมแพ็คที่ออกแบบมาเพื่อให้มือใหม่ได้ทดลองใช้ ไม่มีระบบวัดแสง มีแต่การเปิดแฟลชหรือปิดแฟลชเท่านั้นที่ดูเป็นลูกเล่นให้เลือกปรับแต่ง กล้องใช้แบตเตอรี่ขนาด AAA จำนวน 1 ก้อนเพื่อใช้งานในการเปิดแฟลช หากใช้ในที่แสงพอดีกับสเป็คกล้อง ก็จะให้ภาพที่มีน้ำหนักเข้มอ่อนพอดี ภาพเหตุการณ์ที่มีแสงแดดอ่อนบนกล้องตัวนี้มีคุณภาพดีเกินราคา แต่หากไปเจอกับที่มืด หรือเหตุการณ์ในร่มเงา ในห้อง ในตึก สภาพแสงในบ้านมักจะน้อยอยู่แล้ว กล้องคอมแพ็คชัตเตอร์คงที่แบบนี้จะให้ภาพอันเดอร์ทันที การเปิดแฟลชช่วยก็จะพอทำให้ได้ภาพ แต่แสงแฟลชก็ไม่แรงนัก ภาพที่เปิดแฟลชถ่ายในบ้านยังคงดูอันเดอร์อยู่

1613868874915-01

หากจะสรุปถึงคุณภาพของกล้องและฟิล์มของบ็อกเซ็ตชุดนี้ กล้องคอมแพ็คเปลี่ยนฟิล์มได้มีกลไกการทำงานที่แม่นยำ สปีดชัตเตอร์ระดับ 1/100 วินาทีโดยประมาณพร้อมรูรับแสง f10 ทำให้มันเหมาะกับการถ่ายภาพในที่มีแสงสว่างมากพอ อย่างเช่นตอนกลางวัน ภาพตัวแบบที่โดนแสงแดดโดยตรงจะให้คุณภาพที่ดี หากถ่ายในที่แสงน้อยก็ต้องเปิดแฟลชเสมอ และพยายามยืนใกล้แบบเอาไว้ เพราะแสงแฟลชจากพลังงานแบตเตอรี่ก้อนเดียวก็ทำงานได้ในระยะประมาณ 1-1.5เมตรเท่านั้น

IMG_20210225_141205

ทดลองนำฟิล์มไปอัดขยายด้วยกระบวนการห้องมืด ก็อัดภาพออกมาได้สวยงามดี ภาพที่ถ่ายมาค่าแสงพอดีก็จะสามารถอัดภาพออกมาได้มีน้ำหนัก มีส่วนขาวสุดและดำสุดในภาพ ดังนั้นการเลือกถ่ายภาพด้วยกล้อง Harman Reusable ก็ควรจะเลือกสถานการณ์ที่เหมาะสมกับสเป็คกล้องไว้ก่อน ก็คือ แสงแดดส่อง หรือ แดดกำลังดี จะให้ภาพที่ดีที่สุด หลีกเลี่ยงการถ่ายภาพในที่ร่ม หลีกเลี่ยงภาพในบ้านในอาคารที่ไม่มีแสงธรรมชาติ

2021-02-21_06-00-22



บ็อกเซ็ตชุดนี้ให้ความสนุกสนานได้ดี แต่ต้องอาศัยคนที่มีความชำนาญในการล้างฟิล์มด้วย ค่าใช้จ่ายกล้องพร้อมฟิล์มประมาณ 1000 บาท ค่าน้ำยาล้างฟิล์มประมาณ 1000 บาท ซึ่งน้ำยาจะใช้ล้างได้เกินสิบม้วน ใครมีน้ำยาล้างฟิล์มอยู่แล้วก็ไม่ต้องซื้อ แต่ใครไม่มีก็ต้องลงทุนกันหน่อย หรือ ถ้าจะไปจ้างคนอื่นล้างก็หายากและราคาก็แพงระดับหลายร้อยบาทต่อม้วน ค่าใช้จ่ายหลังการถ่ายภาพที่สูงระดับนี้คงทำให้มีคนลองเล่นไม่มากนัก

สั่งซื้อได้ที่ https://shope.ee/1q7YfKc1bU

2021-02-25_05-53-57

การถ่ายภาพด้วยฟิล์มกับการใช้แสงแฟลช

การถ่ายภาพด้วยฟิล์มได้กลับมานิยมกันอีกครั้งในยุค พศ.2563 แต่การหวนกลับมาของฟิล์มครั้งนี้มาพร้อมค่าใช้จ่ายที่แพงมหาศาล แต่คนก็ยังเหนียวแน่นกับการถ่ายภาพแบบลองผิดลองถูก ถ่ายทุกม้วนลุ้นทุกเฟรม การใช้แฟลชกับกล้องฟิล์มก็ดูจะมีบางกลุ่มที่ชอบใช้ เพราะลักษณะภาพแตกต่างไปจากมือถือ แตกต่างไปจากภาพจากกล้องดิจิทัล บทความนี้จะแนะนำการใช้แฟลชในบางรูปแบบเปรียบเทียบให้ดูว่า ช่างภาพยุคโบราณใช้แฟลชด้วยแนวคิดอย่างไร และอาจจะไม่เหมือนยุคนี้ทั้งหมด แต่หลักการจะสามารถนำไปใช้สร้างสรรค์ผลงานภาพได้

000037

ภาพที่1 ถ่ายภาพด้วยกล้องฟิล์ม เปิดแฟลชด้วย โดยใช้โหมด P บนกล้อง SLR ของ canon ลักษณะภาพจะได้แสงแฟลชพอดีบนตัวแบบ และฉากหลังค่อนข้างดำมืด นั่นเป็นเพราะว่าเมื่อเราเปิดโหมด P พร้อมด้วยเปิดใช้งานแสงแฟลช กล้องจะเลือกค่ารูรับแสง f4 และ ความไวชัตเตอร์เป็นค่าสูงๆประมาณ 1/60 วินาทีสำหรับที่แสงน้อย และอาจจะเลือกเป็น 1/125 วินาทีในที่แสงจัด กล้องจะคิดแทนเราว่าเราต้องการภาพไม่สั่น รูรับแสงน้อยเท่าที่เลนส์จะมีให้ได้ โดยฉากหลังจะมืดก็ไม่สนใจ เพราะตัวแบบจะได้รับแสงแฟลชที่เพียงพออยู่แล้ว ภาพจึงออกมาตามภาพคือตัวแบบได้แสงพอดี ส่วนฉากหลังจะดำเกือบมืดนั่นเอง

000038

ภาพที่ 2 เป็นภาพที่ตั้งใจปรับกล้องอีกแบบหนึ่ง เลือกการตั้งค่าให้เป็นโหมด AV พร้อมเปิดแฟลช ในโหมด Av บนกล้อง canon เมื่อเลือกรูรับแสง f4 กล้องจะเลือกค่าสปีตชัตเตอร์ให้เป็นค่าที่วัดแสงฉากหลังได้พอดี ซึ่งสปีดอาจจะต่ำลง ภาพแนวนี้ถ้าเป็นในอาคารจะใช้ขาตั้งด้วยเพื่อป้องกันการสั่นไหว นั่นจึงทำให้ฉากหลังของภาพที่ 2 นี้ ดูสว่างขึ้นกว่าภาพที่ 1 ส่วนตัวแบบจะได้แสงสว่างจากแฟลชและแสงในอาคาร แต่แสงหลักๆที่ทำให้ตัวแบบสว่างก็คือแสงแฟลช โดยรวมก็คือ ภาพที่1และ2 ตัวแบบจะได้แสงจากแฟลชเป็นแสงหลักและเป็นค่าแสงแฟลชที่สว่างพอดีบนตัวแบบ แต่ฉากหลังจะต่างกันตามโหมด P และ Av ที่กล้องคิดไม่เหมือนกัน

000031

ภาพที่ 3 เป็นโหมด Av ที่ปิดแฟลช เป็นการวัดแสงพอดีทั้งภาพ ตัวแบบจะได้แสงพอดีจากการวัดแสงจริงๆในโหมดนี้ และฉากหลังหากโดนแสงภายนอกส่องเข้ามาพอๆกับแบบ เราก็จะได้ภาพแบบและฉากหลังที่สว่างเหมือนกัน นั่นคือแสงพอดีเหมือนกันตั้งแต่หน้าถึงหลัง สถานการณ์นี้ขาตั้งกล้องจำเป็นมาก เพราะการถ่ายภาพในอาคาร วัดแสงพอดี ด้วยฟิล์มความไวต่ำ ความไวชัตเตอร์จะต่ำมาก หากถือด้วยมือเปล่าภาพจะสั่นแน่นอน

การใช้แฟลชถ่ายภาพมีเทคนิคการคิดหลายชั้น ค่อยๆฝึกถ่ายไปทีละบทเรียนก็จะมีความเข้าใจทีละน้อย สะสมความรู้ไปเรื่อยๆเราก็จะมีเทคนิคที่หลากหลายไปใช้ออกแบบรูปถ่ายของเรา ช่างภาพที่ดีก็คือช่างภาพที่เข้าใจแสงและอุปกรณ์ เส้นทางนี้ไม่มีทางลัด ต้องค่อยๆเรียนกันไป

รีวิวรวมกล้อง Toy Camera

กล้อง Toy Camera เป็นกล้องของเล่นชนิดหนึ่ง ส่วนมากทำจากพลาสติก เลนส์พลาสติก กลไกเรียบง่าย ไม่มีระบบวัดแสง ไม่มีระบบโฟกัสอัตโนมัติ มักจะถูกใช้เป็นของแถมไปกับผลิตภัณฑ์ต่างๆ บางตัวแถมมากับแชมพูหรือสบู่ อย่างเช่นกล้องโดฟ บางตัวเป็นกล้องใช้แล้วทิ้ง ทุกตัวจะมีลักษณะเฉพาะตัวบางอย่างทำให้มันมีความน่าใช้งานในแต่ละสถานการณ์ต่างกัน รีวิวแบบรวมกลุ่มครั้งนี้ก็จะพูดถึงแต่ละตัวอย่างคร่าวๆ ฟังแล้วก็พอจะได้ไอเดียว่าถ้าเราจะลองเล่นกล้องฟิล์ม เราจะเลือกซื้อตัวไหนมาใช้ดี เชิญคลิกชมวิดีโอด้านล่างสุดได้เลยครับ

_MG_2878
IMG_1543
IMG_20200228_180152_1
IMG_20200228_180430
IMG_1529

ภาพจากกล้อง Harman Reusable Camera

IMG_20200228_180152_1
2020-03-07_12-55-29-01

ภาพจากการใช้กล้อง Harman Reusable Camera ใส่ฟิล์ม fuji c200 ซึ่งเป็นฟิล์มเน็กกาทีฟสี และทำการล้างอัดพร้อมสแกนภาพเสร็จสรรพ ได้เป็นภาพสีดูได้ในคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือ ภาพสีที่ได้ก็ไม่ค่อยสวยนัก เพราะกล้องที่ใช้เป็นกล้องคุณภาพต่ำ จุดประสงค์ของกล้องเป็นกล้องที่ใช้เพื่อทดแทนกล้องใช้แล้วทิ้ง เป็นกล้องพลาสติก เลนส์พลาสติก ผลิตขึ้นมาเพื่อการบันทึกภาพเหตุการณ์เฉพาะหน้า หรือเหตุการณ์เร่งด่วน

2020-03-07_12-55-42-01

แม้ว่าสีสันจะไม่ดี ความคมชัดก็แค่ระดับพอใช้ได้ แต่หากเรานำภาพมาปรับแต่งเป็นโทนขาวดำ แล้วเราปรับภาพอย่างเข้าใจ คือปรับด้วยประสบการณ์ว่า ภาพขาวดำที่ดีควรจะเป็นอย่างไร เราก็จะได้ภาพขาวดำดีๆออกมาได้เช่นกัน

การทำภาพเป็นขาวดำด้วยระบบคอมพิวเตอร์จะมีวิธีการปรับที่ยืดหยุ่น เราสามารถได้ภาพแทบจะดังใจนึก โทนสีขาวสุด ดำสุด เราสามารถกำหนดได้ตามใจเรา ซึ่งการปรับเพื่อดูในหน้าจอคอมพิวเตอร์นี้บางทีผมว่า มันให้ภาพที่ดีกว่าการอัดขยายบนกระดาษขาวดำแล้วค่อยมาสแกนกระดาษเสียอีก เพราะแม้แต่การสแกนจากกระดาษขาวดำ เราก็ยังต้องปรับภาพอยู่ดี อย่างน้อยก็ปรับเรื่องความสว่างและคอนทราสต์ของภาพ

2020-03-07_12-55-02-01

ผมชอบภาพสีขาวดำที่ปรับจากภาพสี เพราะว่าข้อมูลสีที่เป็นสีธรรมชาติมันประกอบไปด้วยข้อมูลจำนวนมาก มากกว่าภาพโทนขาวดำจากฟิล์มขาวดำแท้ๆด้วยซ้ำ นั่นทำให้เราได้การไล่ระดับสีเข้มอ่อนได้ละเอียดกว่าการสแกนฟิล์มขาวดำเป็น grayscale โดยตรง เพราะข้อมูล Grayscale จะมีความละเอียดเพียง 8bit เทียบเป็นระดับความเข้มสุดไปอ่อนสุดเท่ากับ 256 ระดับ เท่านั้น

2020-03-07_12-55-21-01

แต่ถ้าเราใช้ภาพสี jpg หรือ tif ที่เป็นสี RGB หรือภาพสแกนจากฟิล์มเน็กกาทีฟสี เราจะมีข้อมูลตั้งต้นเป็น RGB อย่างละ 8bit x 3 = 24bit คิดเป็นระดับความเข้มไล่ไปอ่อนได้ 16.7 ล้านระดับ เห็นไหมว่าแตกต่างกันมาก

2020-03-07_12-54-52-01

ผมไม่ได้บอกว่าให้เลิกใช้ฟิล์มขาวดำ แต่แนะนำว่า การเล่นขาวดำจากฟิล์มเน็กกาทีฟสีแล้วดูแค่บนจอภาพไม่อัดลงกระดาษ เราสามารถได้คุณภาพงานขาวดำที่ดีได้เช่นกันจากหลักการที่อธิบายไป เรื่องศิลปะไม่มีผิดถูก ชอบแบบไหนก็ทำแบบนั้น และอยากเสริมอีกนิดว่า ศิลปะ สะดวกแบบไหนก็ทำตามสะดวก เราก็จะได้งานเช่นกัน

2020-03-07_12-56-00-01

2020-02-19_04-23-13-02
2020-02-19_04-23-02-02
2020-02-19_04-22-53-01
2020-02-19_04-23-50-01

รีวิว กล้องคอมแพ็คฟิล์ม nikon L35AF

20200131162450_IMG_0410-01

ใครอยากฟังเป็นเสียง ผมทำเป็นคลิปไว้ใน youtube เลื่อนลงด้านล่างแล้วกดฟังได้เลยครับ

กล้องฟิล์มได้รับความนิยมมากขึ้นในช่วงสามปีมานี้ ในงานโฟโต้แฟร์ของปลายปี คศ 2019 ที่เพิ่งผ่านไป ในงานมีมุมของกล้องฟิล์มมือสองที่มีผู้ขายมาออกร้านอยู่จำนวนหนึ่ง แต่สิ่งที่ทำให้ต้องบันทึกไว้ก็คือ คนที่มาดูกล้องฟิล์มมือสองมีจำนวนมากอย่างไม่น่าเชื่อ ปกติงานโฟโต้แฟร์ในช่วงหลังที่มีแต่กล้องดิจิทัลจะมีคนเดินหลวมๆ ดูของสบาย จะมีบางบู๊ทเท่านั้นที่มีคนมุง 2-3 คนเพื่อดูสินค้า แต่กับมุมกล้องฟิล์มกลับมีผู้คนล้นหลาม ถึงขนาดที่คนดูมุงซ้อนกัน จะดูกล้องสักตัวต้องมุดต้องเอื้อมมือแทรกเข้าไปเพื่อขอกล้องตัวที่สนใจมาถือดู ความคึกคักระดับที่ไม่เคยเห็นเลยในงานโฟโต้แฟร์ การรุมดูอย่างบ้าคลั่งราวกับตลาดนัดยี่สิบบาทเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้น และที่น่าตกใจก็คือ ราคากล้องฟิล์มขึ้น…. มันเป็นไปได้จริงๆ

กล้องฟิล์มยอดฮิตในช่วงปีนี้จะเป็นกล้องคอมแพ็คเลนส์ฟิกซ์ทั้งสิ้น กล้องที่ได้รับความนิยมจากที่ตามอ่านตามเว็บและกลุ่มเฟสบุ๊คก็จะไม่พ้นกล้องฟิล์มไฮโซหรือกล้องคอมแพ็คเทพทั้งหลาย ที่ติดเป็นดาวค้างฟ้าก็เช่น contax t2, contax t3, leica minilux, nikon 35ti, olympus mju II, canon afm, yashica electro35, canon ql17, และ nikon L35AF ซึ่งตัวหลังนี้จะราคาค่อยข้างถูกกว่าทุกตัว และเป็นที่มาของรีวิวชิ้นนี้

กล้อง Nikon L35AF เป็นกล้องคอมแพ็คฟิล์มระบบออโต้โฟกัสตัวแรกของค่าย nikon ออกวางขายในปี คศ 1983 ติดเลนส์ 35มม. รูรับแสง 2.8 มาให้เลย นับว่าเป็นเลนส์ไวแสงตัวหนึ่งของการถ่ายภาพ รูปร่างเหลี่ยมตามยุคสมัยของทศวรรษที่80 ดูบึกบึนแข็งแรงดี สเป็คเลนส์ที่ดีทำให้มันน่าสนใจมากเมื่อเราเจอกล้องที่สภาพดีและยังคงทำงานได้สมบูรณ์

สเป็คกล้องจากเว็บฝรั่งว่าไว้ตามนี้

  • Produced 1983 – ? Nippon Kogaku K. K., Japan
  • Film type 135 (35mm)
  • Picture size 24mm x 36mm
  • Weight 13.9oz with batteries (394g)
  • Lens Nikon Lens 35mm 1:2.8-? (5 element 4 group?)
  • Filter size 46mm
  • Focal range .8m-infinity (?)
  • Shutter Nikon
  • Shutter speeds ??
  • ASA 100-400*
  • Viewfinder bright frame finder with symbol distance scale
  • Exposure meter lens mounted CdS, +2 backlight compensation lever
  • Battery 2 x AA 1.5v
  • Pop-up flash (automatic when light levels drop out of range)
  • Self-timer
  • Autofocus
  • Auto film advance

จุดเด่นที่พบหลังจากได้ลองใช้ก็จะมีดังนี้

L35AF เป็นกล้องที่ใช้ถ่าน AA 2 ก้อน ซึ่งถือว่าเป็นถ่านราคาถูกและหาซื้อได้ง่ายมาก เพราะกล้องตัวอื่นมักจะใช้ถ่านหายากบ้าง ราคาแพงบ้าง เช่น CR2 หรือ CR123 หรือ 2CR5 บางคนได้กล้องมาราคาสามร้อยบาท แต่ต้องซื้อถ่านเพื่อทดสอบราคาสามร้อยบาท ยังมีค่าฟิล์มค่าล้างอีกสำหรับทดสอบความสมบูรณ์ของกล้อง มันเป็นเรื่องหงุดหงิดนิดหน่อยสำหรับกล้องที่ใช้ถ่านราคาแพง

000004

L35AF เป็นกล้องที่ใส่ฟิลเตอร์ได้ ขนาดฟิลเตอร์ 46 มม. ตรงนี้เจ๋งมาก เพราะว่ากล้องคอมแพ็คเทพทั้งหลายใส่ฟิลเตอร์ไม่ได้เลย การถ่ายภาพด้วยฟิล์มหากจะหวังผลปราณีตมากๆ ก็ควรจะมีฟิลเตอร์ที่ตอบสนองความต้องการของช่างภาพ เช่นจะถ่ายขาวดำก็อาจจะต้องใช้ฟิลเตอร์สีเหลือง จะถ่ายฟิล์มสไลด์หรือเน็กกาทีฟที่สีเที่ยงตรงก็ต้องมีการใส่ฟิลเตอร์แก้สี เนื่องจากฟิล์มไม่สามารถเปลี่ยนค่าไวท์บาลานซ์ได้แบบกล้องดิจิทัล เราจึงต้องใส่ฟิลเตอร์เพื่อเปลี่ยนสีของแสงที่วิ่งเข้าสู่ฟิล์มนั่นเอง

Screenshot 2020-02-20 23.17.15

L35AF ออกแบบช่องมองภาพมีสเกลโฟกัส มีเข็มชี้ว่าตอนนี้กำลังโฟกัสไปที่ระยะใด มีระยะ4 ตำแหน่งบอกเรา คือ โฟกัสใกล้ๆเข็มจะชี้ที่ภาพคน1คน ถ้าโฟกัสระยะห่างออกมาประมาณ 2-3 เมตรเข็มก็จะชี้ที่ภาพคน2คน ถ้าโฟกัสไกลอีกหน่อยเข็มก็จะชีที่ภาพสามคน และถ้าโฟกัสไกลมากเข็มจะชี้ที่ภาพภูเขา ระบบออโต้โฟกัสที่แสดงผลเป็นเข็มชี้แบบนี้ช่วยให้เรามั่นใจมากยิ่งขึ้นว่ากล้องทำงานไม่ผิดพลาด และคนใช้งานก็จะโฟกัสไม่พลาด เช่นถ้าเรากำลังถ่ายคนครึ่งตัว เมื่อกดปุ่มถ่ายลงไปครึ่งหนึ่งกล้องจะทำการโฟกัส และเข็มชี้โฟกัสจะชี้ไปตามระยะที่มันทำงานคือชี้ภาพ1คน แต่ถ้ามันบังเอิญไปชี้ที่รูปภูเขา แสดงว่าเราโฟกัสพลาดไม่โดนคน ไปโฟกัสฉากหลัง ภาพก็จะออกมาเป็นคนเบลอ ภูเขาหรือวิวด้านหลังชัด

000010

L35AF เป็น เป็นกล้องที่ตั้งค่า iso ได้เอง กล้องตัวนี้ไม่มีระบบอ่าน DX code เราจะต้องตั้งค่า iso ที่ด้านบนของเลนส์ให้ตรงกับฟิล์มที่เราใช้ แม้จะดูไม่สะดวก แต่มันเจ๋งมากหากเราใช้ฟิล์มประหลาดที่ไม่ได้มาพร้อม DX code ที่ถูกต้อง อย่างเช่น ฟิล์มโหลดชนิดต่างๆ ยุคนี้เรามีฟิล์มประหลาดที่มาแบ่งขายใส่กลักเก่า กลักเก่าจะมี DX code ที่ไม่ตรงกับฟิล์มประหลาดเหล่านี้ หากเราใช้ฟิล์มประหลาด เราต้องใช้กล้องที่ตั้งความไวแสงได้เอง

000009

L35AF มีปุ่มชดเชยแสง +2EV ปุ่มนี้เป็นปุ่มที่ช่วยให้เรื่องวัดแสงเป็นเรื่องง่ายขึ้น ปกติหากเราจะถ่ายภาพแบบปราณีต เวลาถ่ายภาพย้อนแสง กล้องจะวัดแสงผิด หากเราถือกล้องโปร เราก็ควรจะไปตั้งค่าการชดเชยแสงให้กับกล้องก่อนถ่ายภาพจริง ถ้าย้อนแสงเราจำเป็นต้องชดเชยไปทาง + 1 หรือ +2 แล้วแต่ความสว่างของด้านหลัง แต่ในกล้องคอมแพ็คตัวนี้ไม่ต้องคิดเยอะ เขาระบุมาเลยว่า ถ้าถ่ายย้อนแสงให้กดปุ่มพิเศษปุ่มนี้ด้วย มันคือปุ่มชดเชยแสงนั่นเอง

Nikon L35AF +2ev

นักถ่ายภาพมือใหม่บางคนไม่รู้ว่าปุ่มนี้ใช้ทำอะไร แต่ถ้าเคยฝึกฝนการถ่ายภาพอย่างจริงจังจะเข้าใจว่า การมีปุ่มชดเชยแบบสำเร็จรูแบบนี้เป็นสิ่งที่เจ๋งมาก ภาพตัวอย่างดูจากภาพลูกผมนั่งอยู่ในเบาะรถยนต์ แสงสว่างด้านนอกรถยนต์รวมถึงด้านหลังรถเป็นสิ่งที่ทำให้ภาพนี้ถือว่าเป็นภาพย้อนแสง หากเราถ่ายไปตรงๆ ภาพจะมีความมืดที่ตัวนายแบบ แต่หากเรารู้ว่าย้อนแสงและต้องการชดเชยแสงให้มีแสงมากขึ้น เรากดปุ่มชดเชยแสงค้างไว้แล้วโฟกัสภาพถ่ายใหม่เลย กล้องจะรับแสงนานขึ้น ความสว่างจะเพิ่มขึ้นประมาณ 2 สต๊อป นั่นเพียงพอที่จะทำให้เด็กในภาพมีหน้าขาวดขึ้น ภาพดูสว่างขึ้น และรวมถึงฉากหลังก็จะสว่างขึ้นด้วย

2020-02-19_07-55-32

ภาพสะพายกระติกน้ำผมถ่ายที่บริเวณจุดจอดรถรับส่งนักเรียน ผมให้ลูกไปยืนห่างออกไปประมาณสองเมตรแล้วถ่ายภาพแรก แล้วจากนั้นก็กดปุ่มชดเชยแสงค้างไว้แล้วถ่ายภาพซ้ำอีกครั้ง ภาพที่สองจะมีความสว่างบนตัวแบบมากขึ้นทันที จุดนี้เป็นจุดเด่นที่เจ๋งมากๆและหาไม่ได้จากกล้องในปัจจุบัน

IMG_0408

การถ่ายภาพด้วยฟิล์มในยุคปัจจุบัน จะมีความนิยมใช้ฟิล์มสีหรือเน็กกาทีฟ โดยเมื่อถ่ายเสร็จแล้วจะส่งไปล้างและทำการสแกนภาพด้วย มีผู้ให้บริการล้างฟิล์มพร้อมสแกนจำนวนมาก มีทั้งร้านเก่าแก่ที่ยังคงดำเนินงานอยู่ และอีกเกินครึ่งเป็นร้านใหม่ เมื่อได้ภาพสแกนมาแล้ว ส่วนใหญ่ก็จะเอาไปโพสท์โชว์ในโซเชียลเน็ตเวิร์ค ภาพสแกนจาก nikon L35AF ชุดนี้ได้ภาพมา 37 ภาพ มี 36 ภาพที่โฟกัสเข้าตามที่ตั้งใจไว้หมดเลย ส่วน 1 ภาพที่ไม่ชัดก็เป็นภาพที่หันกล้องมาถ่ายเซลฟี่ตัวผมเอง ซึ่งคาดว่าโฟกัสพลาดเพราะระยะใกล้เกินไป กล้องยุคเก่ามักจะมีระยะโฟกัสใกล้สุดที่มากกว่ากล้องสมัยใหม่ ระยะแขนที่เซลฟี่ตัวเองก็เลยอยู่ในระยะที่กล้องโฟกัสไม่ได้

ข้อแนะนำสำหรับคนที่อยากถ่ายภาพให้ดูดี เราควรจะยืนใกล้เหตุการณ์ทีจะถ่ายเพื่อให้วัตถุหรือคนเป็นจุดเด่นที่สุดในภาพ การใช้กล้องคอมแพ็คมักจะให้ภาพไม่แม่นยำเท่ากล้อง SLR การจัดองค์ประกอบที่ซับซ้อน การเล่นเส้นนำสายตา การจัดภาพที่จุดตัดเก้าช่อง ทฤษฎีองค์ประกอบภาพต่างๆอาจทำได้ไม่ชัดนัก สิ่งที่ทำได้คือเน้นให้จุดเด่นเป็นสิ่งที่ใหญ่ที่สุดในภาพ ภาพลักษณะนี้มักจะดูดี

สรุป

Nikon L35AF เป็นกล้องคอมแพ็คฟิล์มคุณภาพดี ให้ภาพที่คมชัด วัดแสงแม่นมาก สามารถโฟกัสวัตถุได้แม่นยำ คุณภาพของภาพที่ล้างแล้วสแกนขึ้นมาดูสูสีกับกล้องเทพอย่าง contax t3 ถ้าไม่ได้เป็นคนถ่ายภาพด้วยตัวเองก็อาจแยกไม่ออกว่าภาพไหนจาก nikon ภาพไหนมาจาก contax ถือว่าเป็นกล้องราคาย่อมเยาที่ให้คุณภาพทัดเทียบกับกล้องแพง ข้อเสียอย่างเดียวของกล้องตัวนี้คือ แฟลชจะเด้งอัตโนมัติเมื่อมีแสงน้อย ทำให้เราไม่สามารถสั่งปิดแฟลชได้ด้วยตัวเอง ทำให้การถ่ายภาพบางสถานการณ์อาจจะไม่เป็นไปดังที่ใจคิด และการไม่มีลูกเล่นระดับ advance อย่างโหมด Av Tv หรือการโฟกัสแบบโซนรวมถึงปรับเป็นแมน่วลโฟกัสไม่ได้ก็อาจจะทำให้ใช้งานไม่ตอบสนองต่อความคิดสร้างสรรค์ที่เรามี แต่มันก็เป็นกล้องที่ออกแบบมาให้พกง่ายถ่ายง่าย ไม่ได้ออกแบบมาให้มือโปรใช้ ดังนั้นข้อจำกัดต่างๆก็ไม่อาจบอกว่าเป็นข้อเสียได้

Nikon L35AF Contax T3 Leica minilux
แถมภาพเปรียบเทียบให้ สามภาพนี้ มาจากกล้อง nikon L35AF Contax T3 และ Leica minilux ใช้ฟิล์ม Fuji c200 เหมือนกัน และล้างอัดพร้อมสแกนฟิล์มร้านเดิมตลอด ทุกภาพต่างกันที่ช่วงเวลาที่ถ่ายเท่านั้น
2020-02-20_11-01-59
แถมภาพเปรียบเทียบกับกล้องดิจิทัล ภาพบนถ่ายด้วย eos m + เลนส์ 22f2 ส่วนภาพล่างเป็นภาพจาก nikon L35AF เอาภาพมาต่อกัน พยายามปรับขนาดให้ตัวเด็กดูใหญ่เท่ากัน

แถมให้อีกนิด L35AF ตอนสั่งกรอฟิล์มกลับเมื่อถ่ายหมดม้วน กล้องจะหมุนฟิล์มย้อนกลับแบบเหลือหางให้ มันดีสำหรับคนที่จะล้างฟิล์มด้วยตัวเอง เพราะจะได้ไม่เสียเวลาดึงหางฟิล์มเอง แต่มันเป็นข้อเสียเมื่อจะต้องส่งฟิล์มไปให้ร้านทำการล้างให้ เพราะฟิล์มที่เหลือหางจะดูเหมือนฟิล์มใหม่ยังไม่ได้ถ่าย หากเราเผลอวางไว้ใกล้กับฟิล์มใหม่ หรือเก็บไว้ในกระเป๋าแล้วลืมว่าถ่ายไปแล้วหรือยัง เราจะแยกไม่ออกเลยว่าฟิล์มม้วนนี้ใช้ถ่ายไปแล้วหรือยัง

IMG_20210308_194010
IMG_4855