การถ่ายภาพด้วยฟิล์มกับการใช้แสงแฟลช


การถ่ายภาพด้วยฟิล์มได้กลับมานิยมกันอีกครั้งในยุค พศ.2563 แต่การหวนกลับมาของฟิล์มครั้งนี้มาพร้อมค่าใช้จ่ายที่แพงมหาศาล แต่คนก็ยังเหนียวแน่นกับการถ่ายภาพแบบลองผิดลองถูก ถ่ายทุกม้วนลุ้นทุกเฟรม การใช้แฟลชกับกล้องฟิล์มก็ดูจะมีบางกลุ่มที่ชอบใช้ เพราะลักษณะภาพแตกต่างไปจากมือถือ แตกต่างไปจากภาพจากกล้องดิจิทัล บทความนี้จะแนะนำการใช้แฟลชในบางรูปแบบเปรียบเทียบให้ดูว่า ช่างภาพยุคโบราณใช้แฟลชด้วยแนวคิดอย่างไร และอาจจะไม่เหมือนยุคนี้ทั้งหมด แต่หลักการจะสามารถนำไปใช้สร้างสรรค์ผลงานภาพได้

000037

ภาพที่1 ถ่ายภาพด้วยกล้องฟิล์ม เปิดแฟลชด้วย โดยใช้โหมด P บนกล้อง SLR ของ canon ลักษณะภาพจะได้แสงแฟลชพอดีบนตัวแบบ และฉากหลังค่อนข้างดำมืด นั่นเป็นเพราะว่าเมื่อเราเปิดโหมด P พร้อมด้วยเปิดใช้งานแสงแฟลช กล้องจะเลือกค่ารูรับแสง f4 และ ความไวชัตเตอร์เป็นค่าสูงๆประมาณ 1/60 วินาทีสำหรับที่แสงน้อย และอาจจะเลือกเป็น 1/125 วินาทีในที่แสงจัด กล้องจะคิดแทนเราว่าเราต้องการภาพไม่สั่น รูรับแสงน้อยเท่าที่เลนส์จะมีให้ได้ โดยฉากหลังจะมืดก็ไม่สนใจ เพราะตัวแบบจะได้รับแสงแฟลชที่เพียงพออยู่แล้ว ภาพจึงออกมาตามภาพคือตัวแบบได้แสงพอดี ส่วนฉากหลังจะดำเกือบมืดนั่นเอง

000038

ภาพที่ 2 เป็นภาพที่ตั้งใจปรับกล้องอีกแบบหนึ่ง เลือกการตั้งค่าให้เป็นโหมด AV พร้อมเปิดแฟลช ในโหมด Av บนกล้อง canon เมื่อเลือกรูรับแสง f4 กล้องจะเลือกค่าสปีตชัตเตอร์ให้เป็นค่าที่วัดแสงฉากหลังได้พอดี ซึ่งสปีดอาจจะต่ำลง ภาพแนวนี้ถ้าเป็นในอาคารจะใช้ขาตั้งด้วยเพื่อป้องกันการสั่นไหว นั่นจึงทำให้ฉากหลังของภาพที่ 2 นี้ ดูสว่างขึ้นกว่าภาพที่ 1 ส่วนตัวแบบจะได้แสงสว่างจากแฟลชและแสงในอาคาร แต่แสงหลักๆที่ทำให้ตัวแบบสว่างก็คือแสงแฟลช โดยรวมก็คือ ภาพที่1และ2 ตัวแบบจะได้แสงจากแฟลชเป็นแสงหลักและเป็นค่าแสงแฟลชที่สว่างพอดีบนตัวแบบ แต่ฉากหลังจะต่างกันตามโหมด P และ Av ที่กล้องคิดไม่เหมือนกัน

000031

ภาพที่ 3 เป็นโหมด Av ที่ปิดแฟลช เป็นการวัดแสงพอดีทั้งภาพ ตัวแบบจะได้แสงพอดีจากการวัดแสงจริงๆในโหมดนี้ และฉากหลังหากโดนแสงภายนอกส่องเข้ามาพอๆกับแบบ เราก็จะได้ภาพแบบและฉากหลังที่สว่างเหมือนกัน นั่นคือแสงพอดีเหมือนกันตั้งแต่หน้าถึงหลัง สถานการณ์นี้ขาตั้งกล้องจำเป็นมาก เพราะการถ่ายภาพในอาคาร วัดแสงพอดี ด้วยฟิล์มความไวต่ำ ความไวชัตเตอร์จะต่ำมาก หากถือด้วยมือเปล่าภาพจะสั่นแน่นอน

การใช้แฟลชถ่ายภาพมีเทคนิคการคิดหลายชั้น ค่อยๆฝึกถ่ายไปทีละบทเรียนก็จะมีความเข้าใจทีละน้อย สะสมความรู้ไปเรื่อยๆเราก็จะมีเทคนิคที่หลากหลายไปใช้ออกแบบรูปถ่ายของเรา ช่างภาพที่ดีก็คือช่างภาพที่เข้าใจแสงและอุปกรณ์ เส้นทางนี้ไม่มีทางลัด ต้องค่อยๆเรียนกันไป

Leave a comment