รีวิวเครื่องพิมพ์พกพา mbrush

เครื่องพิมพ์เป็นความสะดวกสบายอย่างหนึ่งของการทำงาน หากเราสามารถพิมพ์สิ่งที่ต้องการพิมพ์ได้ในทุกสถานที่ก็เป็นเรื่องสนุกมากสำหรับคนทำงานทุกคน การจะพิมพ์ข้อความ หรือ ภาพบางลักษณะ เราต้องการพิมพ์แค่ส่วนเล็กๆ อาจจะใช้พิมพ์ชื่อ พิมพ์ข้อมูลแค่บรรทัดเดียว หรือ พิมพ์แค่โลโก้บริษัท หากมีเครื่องพิมพิมพ์ขนาดเล็กมารองรับงานเหล่านี้ก็จะดีมาก

mbrush เป็นเครื่องพิมพ์ inkjet ขนาดเล็ก พกพาได้ มีแบตเตอรี่ในตัว สามารถพิมพ์ข้อความและรูปภาพได้ไม่ต่างจากเครื่องพิมพ์ตัวใหญ่ ลักษณะการทำงานจะเป็นหัวพิมพ์พ่นหมึกที่เราคุ้นเคยกันดีถูกครอบด้วยตัวถังสี่เหลี่ยมขนาดกระทัดรัด ขนาดตัวเครื่องเล็กกว่ากำมือ พื้นที่พิมพ์มีความสูง 14 มม. เท่านั้น สามารถใช้พิมพ์งาน 1 บรรทัดได้ทันที การสั่งการก็ไม่ยากมาก

IMG_0991

อุปกรณ์ที่มากับกล่องก็จะมี

1 เครื่องพิมพ์ mbrush 

2 ตลับหมึก inkjet รุ่น 3 สี cmy 

3 สายชาร์จ usb to type c

4 คู่มือ

5 แผ่นเหล็กเจาะรู 

6 กระดาษแข็งมีรอยพับอีก 1 แผ่น ซึ่งไม่รู้ว่าเอาไว้ทำอะไร 

IMG_0997

การทำงานของตัวเครื่องก็คือตัวเครื่องจะรับข้อมูลที่จะพิมพ์ แล้วผู้ใช้ก็กดปุ่มบนเครื่องเพื่อเริ่มพิมพ์ ลากเครื่องพิมพ์จากซ้ายไปขวา เครื่องก็จะทำการพ่นหมึกเพื่อพิมพ์ออกมา ภาพก็จะติดอยู่บนกระดาษ การทำงานไม่ต่างจากเครื่องพิมพ์อิงค์เจ๊ตในสำนักงานเลย ต่างกันแค่ขนาดเครื่องและไม่มีชิ้นส่วนเคลื่อนที่ใดๆ เพราะเครื่องพิมพ์เคลื่อนที่ด้วยมือคนนั่นเอง

Screenshot_2024-01-17-20-07-03-088_com.android.chrome

เครื่องพิมพ์พกพา mbrush จะรับคำสั่งจากทาง wifi โดยเมื่อเปิดเครื่องขึ้นมา เครื่องพิมพ์จะเปิดตัว wifi ในตัวเองให้เป็น hotspot เพื่อรอให้อุปกรณ์ตัวอื่นเชื่อมต่อเข้ากับ wifi ของเครื่องพิมพ์ ผู้ใช้งานจะใช้คอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือเชื่อมต่อเข้า wifi ก็ได้ทั้งสิ้น เครื่องพิมพ์ mbrush จะมี web app ภายในเพื่อรอให้เข้าไปสั่งการ โดย ip addrerss ของเครื่องพิมพ์จะอยู่ที่ตัวเลข 192.168.44.1 เมื่อเราเข้าไปที่ address นี้ เราจะพบหน้าจอเว็บสั่งการของเครื่องพิมพ์

Screenshot_2024-01-17-20-07-14-984_com.android.chrome

ที่หน้าเว็บของเครื่องพิมพ์ เราจะสามารถสั่งการได้หลายอย่าง เราจะต้องสร้างข้อมูลใหม่เพื่อสั่งพิมพ์ได้ ผมลองพิมพ์คำว่า ข้าวมันไก่ แล้วก็กดสั่งพิมพ์ในหน้าเว็บ ตัวประมวลผลก็จะทำการสร้างข้อมูลสำหรับพิมพ์ เมื่อหน้าจอขึ้นว่าพร้อมหรือ upload 100% แล้ว เราก็พร้อมที่จะพิมพ์

IMG_20240117_200558

วางกระดาษบนพื้นโต๊ะ วางเครื่องพิมพ์บนกระดาษให้ชิดซ้าย กดปุ่มบนเครื่องพิมพ์ 1 ครั้งจะได้ยินเสียงติ๊ด แล้วเราก็ลากมือเพื่อเคลื่อนเครื่องพิมพ์ไปทางขวา เราก็จะได้ข้อความบนกระดาษ เครื่องพิมพ์จะพิมพ์ได้ทีละบรรทัดเท่านั้น ซึ่งลองทำแล้วก็จะได้ตามภาพตัวอย่าง มีคำว่า ข้าวมันไก่ อยู่บนกระดาษเรียบร้อย 

2015-09-06 10.49.59

ทดลองพิมพ์ภาพดูบ้าง ในหน้าจอสั่งการ ให้เราเพิ่มภาพไปบนโปรเจ๊ค แล้วก็สั่งให้มีส่วนการพิมพ์เป็นช่องสี่เหลี่ยมมาครอบภาพไว้ เราทำให้มีแถบสี่เหลี่ยมสี่แถบเพื่อทำให้ครบส่วนของภาพที่ต้องการ แล้วก็นำไปพิมพ์

Screenshot_2024-01-24-22-07-43-301_com.android.chrome
IMG_20240124_224953

ตอนพิมพ์ก็วางเครื่องพิมพ์บนกระดาษ กดปุ่มแล้วลาก แล้วก็ยกขึ้นบรรทัดใหม่ กดปุ่มแล้วลาก ทำซ้ำกัน 4 รอบก็ได้ภาพที่ต้องการ

IMG_20240119_172007

คุณภาพการพิมพ์ภาพถ่ายออกมาไม่ดีนัก อาจจะเพราะเป็นหัวพิมพ์ที่ไม่ได้ละเอียดมาก และการลากด้วยมือก็ไม่ได้มีความแม่นยำ ภาพที่เกิดขึ้นดูเป็นภาพคุณภาพต่ำ แต่ถ้าข้อมูลเป็นตัวหนังสือ เป็นภาพกราฟิคที่ไม่ได้ไล่ระดับอ่อนแก่ เราก็จะได้คุณภาพที่ดี แม้จะไม่ได้คมกริปเหมือนงานสิ่งพิมพ์ แต่ก็ได้ข้อมูลที่ต้องการอยู่บนกระดาษ เราอาจจะประยุกตไปพิมพ์ข้อความบนวัสดุอื่นๆได้ เช่นพิมพ์บนกล่อง พิมพ์บนสมุด พิมพ์บนแก้วกระดาษ ขอให้เป็นวัสดุที่รับหมึกอิงค์เจ๊ตได้ก็น่าจะได้งานทั้งหมด

ลองเอาไปพิมพ์บนวัสดุผิวมันอย่างเช่น แก้ว กระเบื้อง พลาสติก พบว่าหมึกไม่เกาะเลย กลายเป็นเลอะเทอะ 

ข้อดี

พิมพ์งานด่วน พิมพ์ข้อความด่วนได้
พิมพ์ชื่อ พิมพ์โลโก้ บนชิ้นงานได้หลากหลาย

ข้อเสีย

คุณภาพงานพิมพ์ไม่สูง

บางทีก็พิมพ์ไม่ตรงตำแหน่งที่ต้องการ

บางทีก็ลากแล้วภาพเอียง

บางทีพิมพ์ไม่ติด โดยเฉพาะวัสดุมันวาว

สรุป

เครื่องพิมพ์ mbrush เป็นเครื่องพิมพ์ขนาดเล็ก พกพาง่าย มีแบตในตัว สามารถพิมพ์ข้อความเร่งด่วนได้ดี ใช้พิมพ์โลโก้หรือสโลแกนอะไรก็ได้แค่บรรทัดเดียว ไม่ควรเอาไปพิมพ์ภาพ เพราะคุณภาพออกมาไม่สวยเลย ใช้ทำงานเป็นตรายางได้ 

สั่งซื้อ Mbrush ได้ที่นี่ https://shope.ee/3L2fp5NYT6

หมายเหตุ

ผมเดาว่า ตลับหมึกพร้อมหัวพิมพ์ที่ mbrush ใช้คือของ Hp รุ่น 62 ซึ่งเป็นรุ่น 3 สี cmy หากหมึกหมดก็ลองหาซื้อมาใช้แทน น่าจะได้ หรือแม้แต่จะหาหมึกเติมก็น่าจะได้เช่นกัน ของพวกนี้ไม่ต้องกลัวพัง เพราะการซื้อตลับหมึกใหม่ก็คือการเปลี่ยนหัวพิมพ์ใหม่ด้วย เพราะหมึกของ hp หัวพ่นหมึกอยู่ติดกับหมึก หมึกหมด ก็คือทิ้งตลับเก่าและหัวไปพร้อมกันเลย 

Screenshot_2024-01-30-08-27-18-934_com.android.chrome
IMG_20240130_081103

เอาไปพิมพ์ภาพก็พอใช้ได้ครับ


สั่งซื้อ Mbrush ได้ที่นี่ https://shope.ee/3L2fp5NYT6

ครบ 10 ปี เครื่องพิมพ์อ๊อพเซ็ท

IMG_0089

โรงพิมพ์ของผมซื้อเครื่องพิมพ์อ๊อพเซ็ท 4 สี มือสองเข้ามาใช้งานตั้งแต่ช่วงปี 2554 ซึ่งเป็นปีที่ประเทศไทยมีภัยน้ำท่วมใหญ่ และเป็นปีที่พ่อผมเสียชีวิตจากโรคมะเร็งในช่วงปลายปี พ่อผมมีโอกาสได้เห็นเครื่องพิมพ์ 4 สี วางอยู่ในโรงพิมพ์ ผมรู้สึกว่ามันเป็นความสำเร็จของคนปากกัดตีนถีบคนนึงที่ดิ้นรนทำมาหากินและสร้างครอบครัว ส่งลูกเรียนจบและมีอาชีพทิ้งไว้ให้ลูกหลาน

DSCF4375


เครื่องพิมพ์ไฮเดลเบิร์ก เป็นเครื่องพิมพ์มือสอง ผมไม่รู้ประวัติของเครื่องนี้เท่าไหร่นัก แต่มันมาตั้งในโรงพิมพ์ในตอนที่มิเตอร์บนเครื่องชีไปไป 47327770 รอบ ซึ่งผมถ่ายภาพนี้ไว้ในวันที่ 16ธันวาคม2554

20111216_173452

เวลาเลยผ่านมาเหมือนไม่นาน รู้ตัวอีกทีก็ครบ 10 ปี มันเป็น 10 ปีที่มีความเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง เรามีช่วงเวลาที่ทำงานไม่ทัน งานล้นมือ เรามีช่วงเวลาที่งานซบเซา บางวันต้องปิดเครื่อง ปิดไฟโรงงาน และในช่วงที่มีโควิดระบาดหนักๆ ช่างพิมพ์หลายคนในโรงพิมพ์ก็ต้องหยุดงานเพราะติดเชื้อ โรงพิมพ์ทำงานต่อไม่ได้ งานบางงานต้องไปขอให้โรงพิมพ์อื่นช่วยเหลือช่วยพิมพ์ให้

วันที่ครบ 10 ปี คือ 16ธันวาคม2564 ผมถ่ายภาพนี้เก็บไว้อีกครั้ง

2021-12-16_05-02-45

มิเตอร์ขึ้นเลข 77740023 ซึ่งพอนำมาคิดหักลบกับตัวเลขเริ่มต้นแล้ว ก็จะได้

77740023 – 47327770 = 30412253 หรือประมาณ 30 ล้านรอบ

ตัวเลข 30 ล้านรอบนี้บอกอะไรเราบ้าง

ถ้านับงานกระดาษใบปลิว A4 พิมพ์ 2 หน้า เราจะพิมพ์งานนี้ไปแล้ว 60 ล้านใบ ผมก็ไม่รู้ว่ามันมากหรือน้อย เครื่องพิมพ์เครื่องนี้ทำเงินให้เราเกินค่าตัวของมัน แม้ว่าธุรกิจสิ่งพิมพ์จะเป็นดาวร่วงในมุมมองของนักบริหารและนักการตลาด แต่เราก็ยังคงต้องทำอาชีพนี้อยู่ และปรับเปลี่ยนงานพิมพ์ไปพิมพ์สิ่งที่ผู้คนยังต้องใช้งาน หนังสือพิมพ์ไม่มีคนซื้อแล้ว เราก็ไม่ต้องพิมพ์ นิตยสารขายไม่ได้แล้วเราก็ไม่ต้องพิมพ์ ซึ่งสองอย่างนั้นก็ไม่เคยเป็นงานของโรงพิมพ์เราอยู่แล้ว แต่ประเทศเรายังต้องการกล่องใส่อาหาร กล่องใส่ขนม อาหารเสริม เครื่องสำอางค์ ยังต้องการโบรชัวร์ ยังต้องมีเอกสาร คู่มือผลิตภัณฑ์ ยังต้องมีหนังสือให้ความรู้ พ็อกเก็ตบุ๊ค นิยาย การ์ตูน หนังสือเรียน ยังมีสติ๊กเกอร์อีกหลายชนิดสำหรับติดกล่อง ติดขวด ติดตามสินค้าและกล่องต่างๆ

เทคโนโลยีทางการพิมพ์ของโลกเราเริ่มต้นจากการเรียงพิมพ์ด้วยตัวหนังสือโลหะ จาก letterpress สู่การพิมพ์ offset และเป็นระบบดิจิทัลในปัจจุบัน ที่น่าทึ่งก็คือ ทุกเทคโนโลยียังคงมีอยู่ในปัจจุบัน ไม่มีของใหม่ที่ไปทำลายของเก่า ในโรงพิมพ์เรายังมี letterpress ที่ขาดไม่ได้ ยังมี offset ที่เป็นกำลังหลักของวงการพิมพ์ และมีดิจิทัลสำหรับงานเร่งด่วนและพิมพ์ข้อมูลที่เปลี่ยนแปลงไปทุกใบได้ ทุกเทคนิคการพิมพ์ในปัจจุบันยังคงมีบทบาทอยู่ วงการพิมพ์ไม่ได้ล่มสลาย การปรับตัวของผู้บริโภคทำให้ความจำเป็นในการใช้สิ่งพิมพ์เปลี่ยนรูปแบบไป สิ่งที่แน่นอนก็คือ ไม่มีใครซื้อขนมที่ไม่มีแพ็คเกจห่อหุ้ม ไม่มีใครซื้อยากินเป็นเม็ด ทุกคนต้องการของกินที่อยู่ในหีบห่อหรือในกล่อง ไม่ใช่แค่ของกิน แต่ของขายในห้างในมาเก็ตเพลสก็ต้องการหีบห่อและเอกสารประกอบทั้งนั้น โลกเรายังต้องมีสิ่งพิมพ์

พิมพ์สติ๊กเกอร์เรื่องไม่ยาก

งานพิมพ์สติ๊กเกอร์เป็นดวงๆได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะหลายคนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด19ต่างก็หันมาทำอาชีพที่สอง อาจจะเป็นเพราะตกงาน อาจจะเป็นเพราะโดนสั่งให้หยุดงานแล้วไม่ได้รับเงินเดือน การทำของขายหรือทำของกินขายเป็นช่องทางเดียวที่ทำได้ง่ายและได้เงินทันที และเมื่อตัดสินใจจะทำของขายก็ต้องมียี่ห้อสินค้าของตัวเอง การติดต่อสั่งพิมพ์ฉลากกับโรงพิมพ์ก็เป็นช่องทางที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่การพิมพ์ในอดีตเราจะต้องพิมพ์จำนวนมากเพื่อให้ราคาต่อหน่วยลดลง

IMG_20200327_095949

แต่ปัจจุบัน รูปแบบการทำงาน และลักษณะอาชีพที่ลูกค้าเลือกทำก็มักจะต้องการลดต้นทุนสินค้าให้ได้มากที่สุด การสั่งโรงพิมพ์ผลิตจำนวนมากแม้จะได้ราคาต่อหน่วยที่ถูกลง แต่ก็ต้องสั่งจำนวนมาก ทำให้ยอดเงินที่ต้องจ่ายให้โรงพิมพ์ก็จะมากตาม ดังนั้นระบบการพิมพ์ดิจิทัลที่ทำจำนวนน้อยๆได้ก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ และยิ่งสามารถตัดสติ๊กเกอร์เป็นดวงเพื่อให้เกิดความสะดวกในการใช้งานก็ดูเป็นทางเลือกที่ประหยัดและสะดวกไปพร้อมกัน ถ้าเราจะทดลองตลาดจำนวนไม่กี่ร้อยดวงระบบการพิมพ์ดิจิทัลพร้อมไดคัทก็เหมาะสมกับสถานการณ์นี้ และถ้าวันหลังเมื่อสินค้าติดตลาด จะต้องทำใหญ่ ทำเยอะขึ้น ระบบการพิมพ์ปกติอย่างอ๊อพเซ็ทที่ทำทีละหมื่นหรือแสนดวงจะทำได้เร็วกว่าแบบดิจิทัลก็จะเหมาะสมกว่า ใครสนใจจะทำสติ๊กเกอร์ติดกล่อง ติดแก้ว ติดขวด ก็ติดต่อมาได้ครับ เราจะช่วยเลือกวิธีการผลิตที่ประหยัดและมีความเร็วที่เหมาะสมกับธุรกิจให้ได้ ขอบคุณครับ

IMG_20200521_153913
IMG_20181009_154129
IMG_0216
P1100255
IMG_20200331_133555

เครื่องพิมพ์ดิจิทัลอยู่ๆก็รวน สีซีดกระทันหัน

เครื่องพิมพ์ดิจิทัลที่ใช้งานอยู่เป็นเครื่องพิมพ์ที่ผมใช้งานมาหลายปีแล้ว และปีนี้มันก็แก่มากแล้ว ทางผู้ให้บริการก็แจ้งว่า จะหยุดการให้บริการเรื่องหมึกและซ่อมบำรุงในปีนี้(พศ2563) ซึ่งมันก็สมควรแก่เวลา เพราะนับๆดู เครื่องพิมพ์รุ่นนี้ก็ทำงานมานับสิบปี ชิ้นส่วนต่างๆก็เริ่มแตกหัก ต้องดัดแปลงหาอะไหล่ทดแทนกันเป็นบางชิ้น

อาการสีซีด fujixerox 50651028987_9ac2e18746_k blur

ภาพที่เห็นนี้คืออาการสีซีดกระทันหัน ด้านซ้ายคือใบแรกที่ออกจากเครื่องพิมพ์ ด้านขวาคือใบที่ 350 ซึ่งมีอาการสีซีดขั้นรุนแรง และเมื่อโทรเรียก call center เพื่อแจ้งปัญหา ก็ไปเจอคู่สายเต็ม พนักงานให้บริการท่านอื่นอยู่ เว้นช่วงโทรห่างกันครึ่งชั่วโมงยังไม่ได้คุยกับช่างเลย สุดท้ายระบบตอบรับบอกให้ไปเข้าหน้าเว็บแล้วไป chat ในเว็บเลย ก็เลยไปแจ้งที่ช่องทางนั้นแทน อาการเสียเกิดขึ้นประมาณ 9.30 น. ใช้เวลาประมาณ 40 นาที บริษัทถึงจะรับข้อมูลแจ้งได้เรียบร้อย และช่างโทรหาผมตอน 10.30น. บอกว่าจะเข้ามาถึงประมาณเที่ยง

2020-12-01_04-30-09

ช่างตรวจอยู่พักใหญ่ก็สรุปอาการได้ว่า มอเตอร์ตัวนึงที่อยู่ในระบบหมึกสีชมพูหรือmagenta เสีย ทำให้หมึกไม่ถูกลำเลียงลงไปยังตัวสร้างภาพ สีก็เลยซีดแบบทันทีทันใดแบบนี้ ช่างจัดการเปลี่ยนอะไหล่ให้ และทุกอย่างก็กลับมาปกติ

สรุป
อาการเสียที่เกิดขึ้นกับเครื่องพิมพ์สามารถตรวจพบและซ่อมได้ไม่ยาก การเปลี่ยนอะไหล่สามารถแก้ปัญหาได้ สิ่งที่ควรปรับปรุงก็คือ ระบบรับแจ้งปัญหาหรือ call center ที่บอกลูกค้าว่าให้บริการเต็มทุกคู่สาย มันสร้างความน่าหงุดหงิดให้กับลูกค้าจริงๆ

งานพิมพ์สติ๊กเกอร์ด้วยเทคนิค letterpress

2020-06-20_11-01-30

การพิมพ์ด้วยเทคนิค letterpress นอกจากจะพิมพ์บนกระดาษทั่วไปแล้ว ยังสามารถพิมพ์บนสติ๊กเกอร์ได้ด้วย ลูกค้าท่านหนึ่งทำสินค้าขาย online และอยากมีสติ๊กเกอร์ที่พิมพ์ด้วยระบบ letterpress เราก็เลยจัดทำให้ตามที่ต้องการ งานพิมพ์ 1 สี ต้องใช้วิธีผสมสีพิเศษ เพื่อให้ได้ค่าสีที่ตรงกับ pantone ที่ลูกค้าเลือก เสร็จจากขั้นตอนการพิมพ์แล้ว จะรอแห้งอยู่ 1 วัน แล้วจึงค่อยนำไปปั๊มได้คัท เพื่อให้สติ๊กเกอร์ฉีกใช้งานได้ง่ายขึ้น

บริการหลังการขาย ฟูจิซีร๊อกส์ ไม่ประทับใจ

หลังจากใช้งานเครื่องพิมพ์ Fujixerox x700 และเป็นลูกค้ามาปีที่ 6 โดยในช่วงปีแรกผมมีการพูดถึงการใช้งานและบ่นเรื่องบริการไปหลายอย่าง ด้วยงานที่เยอะขึ้น เราก็ทำงานไปโดยไม่ได้บ่นอะไรอีก เพราะตอนมีปัญหาเราก็ลืมที่จะบันทึกเอาไว้ พอแก้ปัญหาได้ เราก็รีบทำงานส่งลูกค้าแล้วก็ลืมที่จะกลับมาจดบันทึกเอาไว้

WP_20150928_001

มาวันนี้ มีปัญหาเกิดขึ้น และผมมีเวลาบันทึก ก็เพราะว่า วันเสาร์ประมาณ 16.30 น. เครื่องพิมพ์มีปัญหาบางส่วนของภาพหายไปตอนพิมพ์ และเป็นปัญหาทุกแผ่นที่พิมพ์ เปลี่ยนไฟล์ก็ไม่หาย เลยแจ้ง callcenter ไป ปกติจะต้องมาถึงภายในเวลา 2 ชั่วโมง ซึ่งเป็นข้อตกลงการใช้บริการ แต่วันเสาร์ไม่มีช่าง standby แล้วรอวันจันทร์ก็ได้

วันจันทร์ 10.30น. ช่างยังไม่มา โดยก่อนหน้านี้หนึ่งชั่วโมงก็ได้โทรไปตามแล้ว แต่ก็ยังไม่มีใครให้คำตอบว่าช่างจะมาเมื่อไหร่ งานของโรงพิมพ์ที่รับปากลูกค้าไว้ต้องเลื่อนส่งงาน งานจะโดนรีเจ๊คหรือเปล่าเราก็ยังไม่รู้ เพราะลูกค้าของโรงพิมพ์ท่านนี้เป็น เอเจนซี่ เขารับงานจากโรงพิมพ์แล้วก็ต้องไปส่งงานให้ลูกค้าของเขาอีกที เดิมทีก่อนเครื่องมีปัญหาเราก็นัดลูกค้าว่างานจะเสร็จวันเสาร์ พอเครื่องมีปัญหาก็เลยต้องเลื่อนออกไป แล้วโรงพิมพ์ก็ไม่กล้านัดกับเอเจนซี่แล้ว เพราะไม่รู้ว่าช่างของฟูจิซีร๊อกส์จะเข้ากี่โมง

10.45น. ผมมีเวลาว่างนิดหน่อย เพราะงานต้องรอ ต้องรอช่างซ่อมเครื่องฟูจิซีร๊อกส์x700 ระหว่างที่รอก็เลยบันทึกเอาไว้อ่านกันลืม โรงพิมพ์เป็นลูกค้ามาหกปีแล้ว จ่ายเงินตรงเวลาทุกเดือน เรารักษาสัญญาณกับฟูจิซีร๊อกส์ว่าเราจะใช้บริการและจ่ายเงิน เราตรงไปตรงมา แต่ช่างบริการของฟูจิซีร๊อกส์กลับไม่สามารถทำตามสัญญาได้ สัญญาคือจะเดินทางมาซ่อมเครื่องภายใน 2 ชั่วโมง ซึ่งรอบนี้ เราก็คาดว่าช่างคงมาช้าไม่ทันตามสัญญา ที่เราคาดเดาว่าไม่ทัน เพราะหลายๆทีที่มีปัญหาช่างก็มาทันบ้าง ไม่ทันบ้าง

EM technology สิ่งที่ไม่เคยมีใครบอก

หลังจากที่ผมดูวิดีโอนี้จบ ผมก็ตั้งคำถามกับตัวเองหลายข้อ
ทำไมไม่มีใครในเมืองไทยเอาเรื่องแบบนี้มาถ่ายทอดให้เรารับรู้ ตอนน้ำท่วมใหญ่ประเทศไทย ลูกบอล EM มีบทบาทมากในช่วงการแก้ปัญหาน้ำขัง
ทำไมไม่มีโปรดักเกี่ยวกับ EM มาวางขายใกล้ตัวผม หาซื้อง่ายๆ
ทำไม EM ในความรู้สึกผมมันสกปรก และ ไม่น่าใช้ แต่ในวิดีโอนี้มันน่ารักมาก

ผมโทรหาคนที่น่าจะรู้เรื่องการผลิตกระดาษในประเทศไทยโทรคุยจนเขาพร้อมให้ลองทำ หา EM ไปให้เขา เดี๋ยวจะลองให้
ผมโทรหาคนที่รู้เรื่องจุลินทรีย์ และได้รู้ว่า EM มีหลายแบบ ถามว่าทำไมเช็ดกระจกได้ เขาบอกว่า EM จะย่อยของเสียให้แล้วได้แอลกอฮอร์ และทำให้เช็ดกระจกได้ เพราะน้ำยาเช็ดกระจกจะมีส่วนผสมของแอลกอฮอร์

ประเทศไทยมี EM มานานแล้ว แต่การนำไปใช้จำกัดอยู่ในวงแคบ  ไม่มีไอเดียน่าสนใจในการชักชวนให้ใช้  ผมหวังว่าจะมีคนช่วยทำให้ EM มีบทบาทมากขึ้น และถูกใช้ประโยชน์มากขึ้นในทุกๆทางที่มันทำได้

ติดตั้งเครื่องพิมพ์ 4 สี

12 ธันวาคม 2554 ที่โรงพิมพ์ทำการติดตั้งเครื่องพิมพ์ 4 สี เครื่องพิมพ์เครื่องนี้ทำให้ครอบครัวผมเป็นหนี้ตัวจริง แต่ก็เชื่อว่ามันจะปลดหนี้ได้ในเวลาไม่นาน


ภาพถ่ายด้วยมือถือ samsung galaxy note โดยใช้โปรแกรม FXCamera เพื่อถ่ายภาพให้มีกรอบภาพแบบโพลารอยด์ จากนั้นใช้โปรแกรมตกแต่งภาพเพื่อเขียนตัวหนังสือลง การเขียนตัวหนังสือใช้ S pen ซึ่งเป็นอุปกรณ์ประจำตัวของมือถือรุ่นนี้

ด้วยความที่มือถือรุ่นนี้มีความเร็วสูง สามารถถ่ายวิดีโอความละเอียดสูงได้ค่อนข้างดี ก็เลยถ่ายบรรยากาศการติดตั้งเครื่องเก็บไว้เป็นที่ระลึก

DSCF4375

ดิจิทัลปริ๊นท์ ตอนที่ 6

เครื่องพิมพ์ดิจิทัล fujixerox รุ่น x700 ทำงานมาครบปีแล้ว หลังจากที่ผ่านการทำงานไม่มากไม่น้อย มีอาการเสื่อมสภาพบางชิ้นส่วน เปลี่ยนอะไหล่ก็หายดี การทำงานกับเครื่องพิมพ์ตัวนี้เริ่มใช้งานบางฟังค์ชั่นที่ช่วยอำนวยความสะดวกบางอย่าง และพอเริ่มใช้ก็เริ่มพบข้อจำกัดบางอย่าง

เครื่องพิมพ์ตัวนี้มีถาดใส่กระดาษ 7 ชุด แต่ละชุดจะมีปริมาตรใส่กระดาษได้ไม่เท่ากัน งานที่พิมพ์เยอะๆต้องใช้ช่องใส่กระดาษถาด 6 และ 7 งานบางประเภทที่แบ่งว่าหน้าปกเป็นกระดาษหนา เนื้อในเป็นกระดาษบางสามารถสั่งเครื่องพิมพ์ให้พิมพ์งานโดยใช้กระดาษทั้งสองชนิดได้ นั่นเป็นข้อดีที่รู้อยู่แล้วตอนซื้อเครื่อง แต่ที่ผ่านมาไม่เคยได้ใช้ฟังค์ชั่นนี้เลย

ที่ผ่านมาเวลาต้องการงานพิมพ์เป็นเล่มที่ใช้ปกหนากว่าเนื้อใน จะทำการแยกพิมพ์เป็นสองจ็อบ ก็คือ จ็อบปก และจ็อบเนื้อใน พิมพ์แยกกัน แล้วก็ค่อยเอามาทำเล่มรวมกัน ทำอย่างนี้มาตลอดไม่มีปัญหาอะไร วันดีคืนดีอยากจะใช้ฟังค์ชั่นอำนวยความสะดวกโดยการสั่งจ็อบเดียวแล้วให้มันพิมพ์ปกกับเนื้อในด้วยกระดาษสองชนิดมันก็ทำให้ได้ แต่มีสิ่งที่ค้นพบก็คือมันช้าเหลือเกิน ช้ามาก

งานพิมพ์หนังสือ 16 หน้าเย็บแม็ก แค่เล่มเดียวควรจะใช้เวลาให้กระดาษไหลไม่เกิน 30-35 วินาที หรือเท่ากับความเร็วกระดาษไหลไป 4 แผ่น แต่พอสั่งให้พิมพ์กระดาษสองชนิดพร้อมกัน โดยให้กระดาษบางอยู่ถาด 6 กระดาษหนาอยู่ถาด 7 เครื่องก็ทำตามสั่งได้ไม่ผิดพลาด แต่ใช้เวลาค่อนข้างนานในการเปลี่ยนกระดาษจากถาดอื่นๆ เข้าใจว่าการพิมพ์กระดาษบางใช้ความร้อนน้อย พิมพ์กระดาษหนาใช้ความร้อนเยอะ พอพิมพ์กระดาษบางในเล่มเสร็จแล้วต้องเริ่มพิมพ์กระดาษหนา เครื่องจะต้องหยุดวิ่งเพื่อเพิ่มความร้อนให้มากขึ้นก่อน เมื่อความร้อนถึงจุดที่กำหนดถึงจะพิมพ์กระดาษหนาได้ และเมื่อพิมพ์กระดาษหนาสำหรับหน้าปกเสร็จแล้วก็ต้องเปลี่ยนไปพิมพ์กระดาษบาง เครื่องก็จะต้องคลายความร้อนออก รอให้ความร้อนลดลงมาอยู่ในระดับที่เหมาะกับกระดาษบางแล้วค่อยพิมพ์ต่อ การทำหนังสือหนึ่งเล่มต้องใช้เวลารอความร้อนขึ้นและลงนานกว่าเวลาที่กระดาษวิ่งเสียอีก จาก 1 เล่มถ้าพิมพ์ไม่เปลี่ยนกระดาษจะใช้เวลา 30 วินาที กลายเป็นว่าพอเปลี่ยนกระดาษจะต้องใช้เวลารวมทั้งหมดเป็นเล่มละ 2 นาที ความเร็วลดลงไปสี่เท่า

ถ้างานน้อยๆทำไม่กี่เล่มก็พอจะรอได้ แต่ถ้าต้องทำเป็นร้อยเป็นพันเล่ม แยกพิมพ์ปก กับแยกพิมพ์เนื้อในคนละจ็อบน่าจะเสร็จงานเร็วกว่า

เครื่องเข้าเล่ม ไสกาว ของเล่นคนชอบทำหนังสือ

การทำหนังสือจะต้องมีการเย็บเล่ม รูปแบบการเย็บเล่มแบบธรรมดาที่สุดคือการเย็บด้วยแม็กซ์ ซึ่งบางคนเรียกว่าเย็บมุงหลังคา อีกรูปแบบหนึ่งที่นิตยสารต่างๆนิยมใช้กันก็คือการไสกาว

การไสกาวเป็นการทำงานที่ต้องอาศัยเครื่องมือเยอะกว่าเครื่องเย็บด้วยแม็กซ์ และเครื่องมือก็ค่อนข้างแพง ถ้าจะทำหนังสือสักพันเล่มก็คงจะต้องลงทุนเครื่องเข้าเล่มไสกาวสักแสนกว่าบาท มันถึงจะทำงานได้ทัน แต่ถ้าจะทำแค่ไม่กี่เล่ม จำพวกหนังสือออนดีมาน หรือโฟโต้บุ๊ค หรือสมุดโน้ตจำนวนน้อยๆ การลงทุนระดับแสนกว่าบาทก็ดูจะเป็นเรื่องที่หนักเกินไป

แต่เดี๋ยวนี้ถือว่าการการทำเล่มไสกาวเป็นเรื่องที่ไม่ยาก และไม่แพงเหมือนเมื่อก่อนแล้ว เพราะมีเครื่องมือราคาย่อมเยาออกมาให้ใช้ มันก็คือเครื่องตัวนี้แหละ สามารถทำเล่มไสกาวได้ทีละหนึ่งเล่ม ใช้เวลาต่อเล่มประมาณ 1-3 นาที ขึ้นอยู่กับความชำนาญของผู้ใช้งาน

การมีเครื่องนี้ใช้งานร่วมกับเครื่องพิมพ์ดิจิทัลทำให้สามารถรับงานหนังสือได้จริง สามารถทำงานจบได้ในที่เดียว ไม่ต้องไปส่งให้ร้านอื่นทำต่อ สามารถควบคุมคุณภาพได้ เร่งเวลาได้ แม้จะช้ากว่าโรงงานเข้าเล่มจริงๆ แต่ถ้าแข่งกันทำ 10 เล่ม ผมว่าเครื่องนี้เสร็จก่อน และงานเรียบร้อยกว่า