Testimonial จากลูกค้า

ตัวอย่าง testimonial จากลูกค้าที่ใช้บริการงานโรงพิมพ์ เวลาที่เรารับทำงานเราใส่ความตั้งใจทำงานอย่างเต็มที่เหมือนเป็นงานของตัวเอง ทำงานกับลูกค้าราวกับว่าเราเป็นคนในบริษัทของลูกค้า เพราะลูกค้าเชื่อใจเราก็ต้องพยายามที่จะจบงานอย่างเรียบร้อยและทันเวลา

20240120103522_IMG_1136

งานที่ต้องการความเร่งด่วน เราจะแนะนำวิธีการทำให้รวดเร็ว การเตรียมข้อมูลดิบอย่างไรให้ส่งไปทำต่อในโรงพิมพ์ได้ทันทีโดยใช้เวลาน้อย การเลือกเทคนิคการพิมพ์แบบใด จบงานพิมพ์ในรูปแบบใด จะประหยัดเวลาที่สุด และเมื่อเริ่มงานแล้วเราก็เฝ้าติดตามทุกขั้นตอนงานพิมพ์เพื่อป้องกันความผิดพลาด งานจะได้เสร็จทันกำหนด

narrow calendar testimonial-page-001

บางงานเราก็นำเสนอไอเดียน่ารัก ทำงานพิมพ์คัสต้อม ลูกค้าอยากได้ความแตกต่าง เราก็ทดลองทำทุกไอเดียที่น่าจะผลิตได้ ทดลองทำจนจบขั้นตอน ทดลองให้เจ้าของงานได้หยิบ ได้จับ ได้ทดลองใช้ เมื่อแน่ใจในชิ้นงานแล้วก็เริ่มผลิต งานที่ส่งมอบ จะตรงวัตถุประสงค์อย่างแน่นอน

จม. ขอบคุณโรงพิมพ์จอมทอง testimonial

งานพิมพ์เกือบทุกชนิดสามารถพิมพ์ได้ตามจินตนาการของลูกค้า อะไรก็เป็นไปได้ แต่ถ้าเรามีข้อจำกัดในด้านงบประมาณ เราก็ต้องให้โจทย์กับโรงพิมพ์เพื่อให้เลือกวิธีผลิตที่จำกัดงบ หรือถ้างานมีข้อจำกัดเรื่องระยะเวลา การขอให้โรงพิมพ์แนะนำวิธีการที่เร็วที่สุดสำหรับการมีงานพิมพ์ไปใช้ก็เป็นเรื่องที่ควรทำ โรงพิมพ์ที่ชำนาญและมีประสบการ์ที่ยาวนานจะสามารถแก้ปัญหาให้ลูกค้าได้ 

ภาพถ่ายช่วยให้ธุรกิจเติบโตได้

หนึ่งภาพแทนความหมายเป็นพันเป็นหมื่นคำคือสิ่งที่เป็นจริง  ทั้งภาพถ่ายเพื่อเก็บความทรงจำ  ภาพบันทึกเหตุการณ์  และภาพถ่ายสินค้าต่างๆเพื่อใช้ช่วยทำการตลาดให้กับธุรกิจ   หากเราจะขายสินค้าสักอย่าง หรือแม้แต่จะทำธุรกิจบริการ  เราก็ควรจะเลือกใช้ภาพเพื่อทำสื่อออกมา   พลังของภาพถ่ายช่วยให้ธุรกิจเติบโตได้จริง ดังเหตุผลต่อไปนี้

20231214065752_IMG_0488

1 ภาพสินค้าใช้เพื่อขายสินค้า  ถ้าเรามีสินค้าที่อยากขาย การใช้ภาพถ่ายสินค้าเป็นสิ่งจำเป็นที่สุด  เพื่อให้ลูกค้ารู้ว่าเราขายอะไร  ลูกค้าซื้อแล้วจะได้อะไร  การจัดแสงและจัดองค์ประกอบของภาพที่ดีจะทำให้สินค้าออกมาดูสวยงามน่าซื้อ

20220607121643_IMG_0875

2 ใช้ภาพถ่ายเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ  การมีภาพคนหรือทีมงานของเราปรากฏอยู่ในสื่อการขาย จะอยู่ในแค็ตตาล๊อค ใบปลิว หรือในเว็บไซต์   ทุกภาพจะช่วยทำให้ลูกค้าเกิดเชื่อมั่นในตัวสินค้าหรือบริการมากขึ้น  สร้างภาพจำได้  เหมือนกับที่เราจำนางแบบโฆษณาสินค้าบางตัวได้

3 ภาพถ่ายช่วยนำเสนอความสมบูรณ์แบบ หรือแสดงโลกในฝันที่อยากให้ลูกค้าได้เห็น  เมื่อจัดวางสินค้าอย่างลงตัว ท่ามกลางองค์ประกอบอื่นๆที่ช่วยทำให้ลูกค้าเห็นไลฟสไตล์  จะทำให้ลูกค้ารู้ว่าสามารถมีแบบนี้ได้  แม้การจัดถ่ายแนวนี้จะใช้งบประมาณสูง แต่ก็ทำให้ลูกค้าเชื่อได้ว่าเขาเลือกสิ่งเหล่านี้ไปเพื่ออะไร  และมันจะยิ่งเป็นผลดีในการชักชวนให้ลูกค้าซื้อสินค้าอื่นๆที่เกี่ยวข้องให้มากขึ้นด้วย

IMG_8577

4 ภาพถ่ายช่วยเล่าเรื่อง  สินค้าหรือบริการบางอย่างจะมีลักษณะเฉพาะ  การมีภาพการใช้งานสินค้าหรือภาพที่กำลังทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับสินค้าจะทำให้เกิดความน่าเชื่อถือยิ่งขึ้น  ภาพจะช่วยสร้างการรับรู้ร่วมกันว่าเราทำอะไร ขายอะไร  นอกจากภาพนิ่งแล้ว  วิดีโอก็สามารถนำมาใช้ร่วมด้วย  ยิ่งในเว็บไซต์ยิ่งควรใช้ทั้งภาพนิ่งและวิดีโอ

IMG_4250

5 ภาพถ่ายนำเสนอเทคนิคเฉพาะ   บางสินค้า บางกิจกรรมมีรายละเอียดวิธีใช้ที่เฉพาะเจาะจง  เราสามารถลงรายละเอียดเพื่อให้ลูกค้าเกิดความเข้าใจ   อย่างเช่นภาพถ่ายการปรับแต่งอุปกรณ์   ภาพที่อธิบายวิธีใช้ วิธีติดตั้งที่จำเป็นต้องเห็นตัวอย่าง  ภาพแนวนี้มักจะต้องการความคมชัด สีสันปกติ  ถ่ายทอดความตรงไปตรงมา  โดยจะต้องหลีกเลี่ยงการใช้ฟิลเตอร์หรือการใส่สีที่เกินจริง 

เราหลีกเลี่ยงไม่ได้เลยที่การนำเสนอทางธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นพรีเซ้นเทชั่น หรือ สิ่งที่ปรากฏอยู่ในใบปลิว หนังสือหรือคู่มือ จะต้องมีภาพถ่ายเพื่อช่วยให้การสื่อสารต่างๆครบถ้วน และทำหน้าที่ได้ตามที่เจ้าของสินค้าต้องการ   ในยุคสมัยของอินเทอเน็ตที่เบ่งบานสุดขีด เรามีตัวช่วยในการสร้างสรรค์ภาพถ่ายมากมายหลายวิธี  นอกจากจะถ่ายเองแล้ว  เราก็มีแหล่งสต๊อคภาพที่ให้โหลดมาใช้ได้แบบฟรี  บางแหล่งอาจจะเป็นแบบเสียเงินเพียงเล็กน้อย  หรือแม้แต่การใช้ระบบ AI ช่วยสร้างภาพที่ต้องการขึ้นมาก็ทำได้ไม่ยากโดยค่าใช้จ่ายต่อภาพจะต่ำมากเมื่อเทียบกับการต้องลงทุนจ้างทีมงานถ่ายทำเต็มรูปแบบ

หากเราขายของโดยไม่เคยถ่ายภาพอะไรในธุรกิจของเราเลย ก็ลองถ่ายภาพแล้วโพสท์ในโซเชียลเน็ตเวิร์คดู    มีภาพแล้วลองตั้งชื่อ หรือใส่ข้อความกำกับเล็กน้อย  ก็ดูดีมีพลังแล้ว

content commerce 2023

Slide2

ในอดีตที่ผ่านมาในยุคที่ยังไม่มีอินเทอเน็ต  สิ่งแรกที่คนทำธุรกิจต้องคิดก่อนจะเริ่มขายก็คือต้องหาที่ทางในการเปิดร้าน  จะขายอะไรสักอย่างหนึ่งเราก็ต้องหาทำเล  เราจะไปเปิดร้านที่ไหนที่ลูกค้าถึงจะคิดถึงและแวะไปหาเราได้  ถ้าเราจะขายต้นไม้  คนซื้อจะแวะไปดูที่ไหน  ก็คงเป็นสวนจตุจักร  ถ้าเราจะขายคอมพิวเตอร์  คนซื้อก็มักจะไปดูที่ห้างไอที  สมัยก่อนก็พันทิพย์  ฟอร์จูน    ถ้าลูกค้าอยากได้ของแห้งจากต่างประเทศเขาก็น่าจะแวะไปดูแถวเยาวราช เจริญกรุง  ถ้าจะซื้อเครื่องดนตรีก็แวะไปเวิ้งนครเกษม  ถ้าซื้ออุปกรณ์สังฆภัณฑ์ก็น่าจะไปย่านเสาชิงช้า  ลูกค้าจะถามจากคนเคยซื้อว่าต้องไปดูที่ไหน  คนทำธุรกิจก็ต้องตามไปเปิดร้านที่นั่น  โลกเราถึงมีคำว่าทำเลทอง 

ลูกค้าสนใจจะซื้อของก็จะเดินทางไปยังทำเลทองของสินค้าตัวนั้น  เมื่อไปถึง ลูกค้าจะเลือกสุ่มเดินเข้าไปสักร้าน  ร้านค้าในย่านทำเลทองก็จะมีสินค้าแนวเดียวกัน แวะร้านไหนก็ได้  ลูกค้าสุ่มเข้าสักร้าน แล้วก็คุยกับคนขาย  ถ้าถามตอบคุยกันไม่ถูกใจ ก็ออกมา แวะร้านต่อไป  ถ้าคุยกันดี ตอบคำถามดี ก็ค่อยตัดสินใจซื้อ

แนวทางการขายของก่อนจะมีอินเทอเน็ต  ลูกค้าจะพบกับคนขายก่อน แล้วก็เกิดการพูดคุย  การพูดคุยที่เกิดขึ้นมันก็คือ Content ข้อมูลสินค้า  ข้อดี ข้อเสีย  เรื่องเล่า รีวิวจากคนอื่นๆที่เล่าต่อๆกันมา  เจ้าของร้านยกตัวอย่างการใช้งานของลูกค้าคนอื่นให้ฟัง  นี่คือขั้นตอนที่เกิดการแสดง Content เจ้าของร้านกำลังแสดง Content และลูกค้ากำลังเสพ Content  ซึ่งๆหน้า  จนกระทั่งเกิดความพอใจ ได้รับข้อมูลที่ถูกใจจึงตัดสินใจซื้อ

ถ้ามีลูกค้าห้าคนเข้ามาที่ร้าน เจ้าของร้านก็แสดง Content 5 ครั้ง  ถ้ามา 20 คน ก็แสดง Content 20 ครั้ง  พอปิดร้านก็บ่นให้ลูกเมียคนในบ้านฟังว่า วันนี้ทำงานหนัก ลูกค้าเข้าไม่หยุดเลย 

พอเปลี่ยนมาเป็นยุคอินเทอเน็ตในแบบปัจจุบัน ทุกคนสามารถสั่งซื้อสินค้าได้จากโทรศัพท์มือถือ  ทุกคนซื้อของจากใครก็ได้  โอนเงินให้ใครก็ได้  วิธีการซื้อจะมีลักษณะขั้นตอนดังนี้ คือ  เมื่อเกิดความสนใจสินค้า  เกิดความรู้สึกว่าอยากได้  อยากมี  ก็จะค้นหาข้อมูลก่อน  หาจาก search engine  ว่าสินค้าที่เราอยากได้มีใครขาย  เราจะดูแลหรือใช้งานสินค้านี้ยังไง  มีข้อดี ข้อเสียอย่างไร  ถ้าเป็นสัตว์เลี้ยงต้องระวังเรื่องอะไร  มันกินอะไร  ห้ามกินอะไร คนอื่นที่เคยใช้เขาเคยชมว่าอย่างไร เคยบ่นว่าอย่างไร    ขั้นตอนที่ลูกค้ากำลังเสพข้อมูลเหล่านี้ก็คือการ เสพ Content 

เมื่อเสพ Content ได้ถึงระดับที่พอใจ ก็ตัดสินใจ  ใครตอบคำถามดี ให้ข้อมูลแวดล้อมได้ถูกใจ ก็ลองดูว่าเขาขายอยู่ใช่ไหม  ตัดสินใจซื้อจาก Content ที่เราชอบ  เพราะเจ้าของเว็บ เจ้าของร้าน น่าจะรู้เรื่องดี คงบริการเราได้  ตัดสินใจได้แล้วก็เดินทางไปซื้อ  หรือ สั่งซื้อออนไลน์เลย  กรณีนี้  ลูกค้าตัดสินใจซื้อก่อนเจอหน้าเจ้าของร้าน

Slide3

การที่ใครสักคนจะซื้อของจากเรา  จะมีเหตุผลแค่ 3 อย่างที่เขาคิดในหัว  มีแค่ข้อใดข้อหนึ่งก็ทำให้เกิดการซื้อได้แล้ว  ยิ่งมีหลายข้อยิ่งดีนั่นคือ ลูกค้าซื้อเราเพราะ

1 รู้จักกันมาก่อน  รู้จักมานาน รู้จักมาตั้งแต่สมัยเรียน ตั้งแต่สมัยทำงานด้วยกัน  เป็นความสนิทสนมที่เคยเกิดขึ้นในอดีต 

2 ถูกชะตา คุยกันถูกคอ  ลูกค้าแวะมาคุยกับคนขายแล้วรู้สึกว่าร้านนี้ตอบคำถามดี มีข้อมูลละเอียด

3 แก้ปัญหาได้ ช่วยเหลือลูกค้าได้  เข้าใจสินค้าและเข้าใจความต้องการของลูกค้า รู้ข้อดี ข้อเสีย ข้อจำกัดของสินค้า และแนะนำสิ่งที่เป็นประโยชน์ให้ลูกค้าได้

Slide5

ซึ่ง 3 ข้อนี้คือสิ่งที่เราต้องพยายามทำให้เกิดขึ้น เพื่อให้ลูกค้าเลือกเรา  เราต้องทำให้ลูกค้าเห็นเรามานาน  เราต้องเป็นคนนิสัยดี คุยดี อัธยาศัยดี  เราต้องให้ความรู้เกี่ยวกับสินค้าตัวนี้ได้เป็นอย่างดี  แก้ปัญหาตอบข้อสงสัยได้ครบถ้วน  และ 3 อย่างนี้เราต้องทำโดยที่เรายังไม่พบลูกค้า  เพราะลูกค้าจะตัดสินใจก่อนเจอเรา  นั่นหมายความว่าเราต้องแสดง 3 อย่างนี้ก่อนที่ลูกค้าจะทักมาหาเรา  ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้เลยในยุคอดีต  แต่ปัจจุบันเราทำได้ ผ่านสิ่งที่เรียกว่า Content นั่นคือการทำ Content

ลูกค้ามาซื้อเราวันนี้ เพราะลูกค้าเสพ content ของเราเมื่อวาน  หรืออาจจะอ่านเรื่องที่เราเขียนเมื่อสัปดาห์ก่อน หรืออาจจะดูรีวิวเมื่อเดือนก่อน  เหมือนกับที่เรามีผลไม้กินเพราะมีคนลงมือปลูก  และการทำ Content ให้ลูกค้าอ่านหรือดู ก็จะเป็นการทำให้คนเป็นพันเป็นหมื่นคนได้ดู  อัดคลิปครั้งเดียว  เขียนข้อมูลครั้งเดียว มีคนอ่านคนดูซ้ำเป็นหมื่นคน  เราไม่ต้องพูดซ้ำๆ วันละ 20 เที่ยวอีกแล้ว  เราเล่าเรื่องที่ต้องเล่าแค่ครั้งเดียว แล้วอินเทอเน็ตจะนำพาทุกอย่างต่อจากเรา  อินเทอเน็ตจะพาลูกค้ามาหา Content ของเรา  และพา Content ของเราไปผ่านสายตาลูกค้า 

การทำ Content จึงเป็นหนทางที่ธุรกิจควรทำ เป็นสิ่งจำเป็นที่สุดในยุคปัจจุบัน  คนทำ Content คือคนที่จะถูกมองเห็นโดยลูกค้าทั่วประเทศและทั่วโลก  คนที่ไม่ทำ Content จะเป็นอย่างไร ก็ให้ดูร้านค้าที่นั่งตบยุง  อยู่ในทำเลทองที่ไม่ทองอีกต่อไป  ลูกค้าไม่เข้า แล้วก็บ่นว่า เศรษฐกิจไม่ดี  ดูสิ ไม่มีใครเดินเลย วันนี้ขายไม่ได้เลย

จริงๆแล้วสังคมมนุษย์ ประชากรเพิ่มขึ้น การบริโภคเพิ่มขึ้น อาหาร เสื้อผ้า สินค้าต่างๆ บริการต่างๆมีคนต้องการเพิ่มขึ้น เพราะคนเยอะขึ้นทุกวัน  แต่เขาไม่ได้มาซื้อร้านเรา เพราะเขาตัดสินใจซื้อกับคนที่เขาชอบ และเขาชอบใคร เขาชอบคนเขียน Content ที่เขาได้เสพ  ดังเช่นทุกวันนี้ที่เราหาที่พัก ที่เที่ยว ที่กินจากอินเทอเน็ต  ที่พักห้าดาววิวหลักล้านไม่ได้ถูกค้นพบจากการขับรถไปมั่วๆ  ทุกคนปักหมุดเลือกมาแล้วจากที่บ้าน  โดยลูกค้าอ่าน Content หรือ อ่านรีวิวมาแล้ว นั่นเอง

Slide6

พอเรารู้ว่าเราต้องมี Content เราถึงจะมีลูกค้า แต่ติดปัญหาตรงที่ส่วนมากเราจะนึกไม่ออกว่าจะทำ Content เรื่องอะไรดี ให้ลองคิดแบบนี้ครับ มี 5 ข้อที่แนะนำ

1 เปลี่ยนจากเรื่องของเราเป็นเรื่องของลูกค้า เลิกบอกว่าเราขายอะไร เลิกบอกว่าเราดีอย่างไร แต่ให้เปลี่ยนศูนย์กลางเป็นลูกค้า สนใจสิ่งที่ลูกค้าอยากรู้ ทำ Content ที่ไขข้อข้องใจ หรือ แก้ปัญหาให้ลูกค้าได้

2 ค้นหาว่าลูกค้ามีปัญหาอะไรบ้าง ลองรวบรวมคำถามออกมา ลูกค้าเคยถามอะไรเรา ตอนเราไปนำเสนองานเราโดนถามอะไรบ้าง

3 ลูกค้าเก่าคือที่มาของ Content เช่นกัน ลูกค้าจะมีปัญหาบางอย่าง แล้วเราแก้ปัญหาให้ได้ จนเขาอุดหนุนเรา เขาถึงเป็นลูกค้าเก่าของเรา ลองสำรวจหรือสอบถามลูกค้าไปเลยว่า เลือกเราเพราะอะไร

4 อยู่กับกลุ่มคนที่มีพลังงานล้นเหลือ มีไฟในการทำงาน อย่าอยู่กับกลุ่มที่อยู่อย่างหมดอาลัยตายอยาก หาความสดใส สดชื่นตลอดเวลา

5 ตั้งเป้าหมายว่าจะทำเพจหรือเว็บจนมีคนติดตาม

ใน 5 ข้อนี้คือสิ่งที่จะทำให้เราคิด Content ออก ลองทำทีละข้อไปเรื่อยๆ ทำซ้ำไปเรื่อยๆ เดี๋ยวเราก็จะได้ Content ที่ดีมีพลัง เปลี่ยนคนอ่านเป็นลูกค้าได้ไม่ยากเลย

หนังสือการตลาดแบบบอกต่อ

IMG_3651

หลังจากที่ได้รู้จักการขยายธุรกิจด้วยเครื่องมือการตลาดชนิดหนึ่งที่ใช้คำว่า การตลาดแบบบอกต่อ หรือ Referral Marketing  ผมก็เปลี่ยนแปลงความคิดตัวเองไปทีละน้อย  จากเดิมที่เคยออกจากบ้านไปหางาน ไปสู่การแย่งชิง หาลูกค้า ขายของ พยายามทุกอย่างเพื่อที่จะได้งาน  และพบว่า เราได้งานบ้าง ไม่ได้งานบ้าง แต่สิ่งหนึ่งที่อยู่กับความรู้สึกตลอดเวลาคือ เราโดดเดี่ยว เหมือนต่อสู้อยู่กับทุกคน

เราเคยออกจากบ้านไปงานเลี้ยงรุ่นศิษย์เก่าด้วยการพกนามบัตรไปเต็มกล่อง คิดว่าจะไปหาลูกค้าจากกลุ่มเพื่อนเก่า  แต่พอไปถึงงานเรากลับรู้สึกอยากพูดคุย ถามไถ่ เราอยากรู้เรื่องราวชีวิตของเพื่อน เราอยากเล่าเรื่องของเราให้เพื่อนฟังบ้าง เราไม่ได้อยากมาขายของ  และตัดสินใจเก็บนามบัตรไว้ ไม่หยิบแจกถ้าไม่มีใครขอ อยู่ในงานเลี้ยงรุ่นด้วยความรู้สึกอยากอยู่กับเพื่อนเก่า อยากนั่งคุยให้นานๆ  ผ่านไปสักสองชั่วโมงก็ค้นพบว่า เราไม่ได้ต้องการเป็นเซลส์ตลอดเวลา เราอยากมีเวลาสนุกสนานกับคนอื่นๆ  เวลาที่ไม่ใช่การของาน  ไม่ใช่การแย่งงาน ไม่ใช่การขอร้องให้เขาซื้อเรา

ความรู้ทางการตลาดแบบบอกต่อ เปลี่ยนให้เรารู้จักกับคำว่าให้  เปลี่ยนประโยคคำถามจากซื้อของเราไหม เป็น ธุรกิจคุณเป็นอย่างไร  เรารู้จักคนอาชีพนี้ เขาจะมีประโยชน์กับคุณไหม  คุณอยากให้เราช่วยอะไรบ้าง  ทุกคำถามไม่ได้ออกมาแบบนกแก้วนกขุนทอง แต่มันค่อยๆหลุดออกจากปากเราในการพูดคุยอย่างมีมารยาทและเชื่อว่าถูกกาลเทศะ  มันดูเหมือนเราเป็นคนผู้กว้างขวาง แต่จริงๆเราก็ยังเป็นคนธรรมดาที่บังเอิญรู้จักคนอีกหลายอาชีพ  และบางอาชีพในแวดวงของเราก็มีประโยชน์กับเพื่อนเก่า  บางคนที่กำลังมีปัญหาบางอย่าง เราก็อาจจะได้แนะนำให้คนที่เรารู้จักอีกกลุ่มหนึ่งมาช่วยเพื่อนเราได้

ยังมีเรื่องราวอีกหลายอย่างที่ได้เรียนรู้ไปกับการทำงานโดยใช้การตลาดแบบบอกต่อ  ได้เรียนรู้การตั้งเป้าหมาย การแบ่งงาน  การทำงานร่วมกันเป็นทีม และที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งที่ไม่เคยได้จากการทำงานตัวคนเดียวก็คือการได้หัดไว้วางใจในตัวเพื่อนร่วมทีม  เรื่องนี้เป็นเรื่องเข้าใจยาก แต่พอได้สัมผัส ได้อยู่ในเหตุการณ์ที่เราจะต้องไว้ใจกัน มันเกิดผลลัพธ์ที่ดีเยี่ยม และทำให้เราเรียนรู้ที่จะไว้ใจลูกน้อง  และสุดท้ายมันส่งผลดีต่อบริษัท ส่งผลดีต่อธุรกิจของเราเอง

หนังสือเล่มนี้ค่อยๆเขียนจากประสบการณ์การเป็นคนทำหน้าที่บอกเล่าเรื่องน่ารู้ประจำสัปดาห์ให้กับเพื่อนร่วมงาน ทุกเรื่องที่ผมเคยเล่าก็จะถูกเรียบเรียงเป็นตัวหนังสือไว้ก่อน  ทำความเข้าใจแล้วค่อยๆเล่าให้เพื่อนฟัง  ตัวหนังสือเหล่านี้เลยถูกรวบรวมอีกครั้งให้เป็นเล่ม  เพื่อใช้ส่งต่อประสบการณ์ของการใช้การตลาดแบบบอกต่อในการทำธุรกิจ 

นอกจากความรู้สึกดีที่ได้ช่วยเหลือเพื่อนในการแก้ปัญหาแล้ว  เรายังได้เรียนรู้ขั้นตอนพิเศษที่หาเรียนได้ยาก นั่นคือการคิดแบบ Growth mindset หรือการมุ่งแสวงหาการเติบโตอย่างมีประสิทธิภาพ  หาปัจจัยที่พาธุรกิจของเราให้ก้าวผ่านวิกฤต  การวิเคราะห์หาแนวทางเพื่อเติบโตเป็นสิ่งที่ถูกฝึกฝนให้คิดและทำตลอดเวลา  ผลลัพธ์คือการพัฒนาตัวเอง  ผลลัพธ์ต่อเนื่องคือสร้างการเจริญเติบโตให้กับธุรกิจของเราเองและช่วยให้ธุรกิจของเพื่อนเติบโตไปด้วย 

อีกหนึ่งผลลัพธ์ที่ได้รับจากแหล่งความรู้ในเล่มนี้ก็คือ รู้แล้วอยากออกไปทำงาน  รู้แล้วอยากออกไปแก้ไขสิ่งที่เคยทำไว้ไม่ดีนัก  เป็นความรู้สึกที่แตกต่างไปจากความรู้ประเภทชี้ช่องรวย อ่านวันนี้พรุ่งนี้สำเร็จ  หนังสือเล่มนี้ไม่ใช่แนวนั้น  เมื่ออ่านจบแล้วเราทุกคนยังคงต้องทำงานหนัก เพื่อพัฒนาคุณภาพงาน พัฒนาธุรกิจของเราเองต่อไป

สำหรับนักอ่าน  ท่านสามารถเลือกอ่านเนื้อหาในเล่มได้ตามสะดวก ไม่จำเป็นต้องเรียงลำดับ จะข้ามไปยังบทที่สนใจเลยก็ได้  เพราะทุกบทเป็นบทที่จบในตัว เชื่อว่าหนังสือเล่มนี้จะช่วยให้เข้าใจการตลาดแบบบอกต่อและใช้เป็นเครื่องมือในการทำธุรกิจของท่านได้

หากสนใจต้องการอ่านเป็นเล่ม ฝากชื่อ อีเมล ที่อยู่จัดส่งและเบอร์โทร ไว้ในแบบฟอร์มนี้ครับ

การตลาดแบบบอกต่อต้องมี Visibility

การที่ใครคนหนึ่งตัดสินใจเลือกใช้บริการสักอย่างจะเกิดจากการที่เขาไม่ลืมเรา เช่น เดี๋ยวจะไปกินอาหารมื้อเย็น  ถ้าให้ลองบอกชื่อร้านอาหารที่อยากไปกันมาคนละ2 ร้าน เราก็คงนึกชื่อที่เราคุ้นเคย บางคนบอกชื่อของร้านอาหารญี่ปุ่น  บางคนบอกชื่อของร้านสุกี้  ทั้งๆที่ตลอดชีวิตของเรา  เราแวะกินร้านอาหารมากันคนละหลายสิบร้าน บางคนกินมาแล้วเกือบทุกร้านในห้าง  แต่ตอนที่เรานึกเร็วๆ ก็จะนึกออกได้แค่ไม่กี่ร้าน นั่นเป็นเพราะว่าเราลืมร้านอื่น  ไม่ใช่ร้านอื่นไม่อร่อย  แต่เราแค่ลืม

pexels-andrea-piacquadio-3764496

ในทำนองเดียวกัน  การบอกต่อหรือการแนะนำงานที่นักธุรกิจบางคนจะเรียกว่าการให้ Referral ก็เป็นการกระทำที่อยู่บนความไม่ลืม หรือ ความจำได้  การรับรู้ว่ามีใครสักคนทำงานนี้ได้  ทำให้เกิดการตัดสินใจบอกต่อ  การทำให้ผู้คนไม่ลืมบริษัทของเรา  ก็คือการทำให้เกิด visibility  มันคือการทำให้ผู้คนรับรู้ว่าเราอยู่ตรงนี้  ให้บริการอยู่ตรงนี้  การมีตัวตนในใจลูกค้า หรือในใจผู้บอกต่อจะทำให้การบอกต่อเกิดขึ้น  และนำไปสู่การได้ธุรกิจหรือได้ยอดขาย

ตัวตนของเราในกลุ่ม networking หรือในกลุ่มเพื่อน  เพื่อนไม่ว่าจะกลุ่มไหนก็ลืมเหมือนกันถ้าไม่ได้เจอกับเราเป็นเวลานาน  ตั้งแต่เรียนจบจนมีครอบครัวถ้าไม่เคยเจอกันเลยรับรองว่าลืม และไม่รู้ด้วยซ้ำว่าใครทำอาชีพอะไร   สมมุตถ้าเราจะซื้อประกันชีวิต  เรานึกออกไหมว่ามีใครในกลุ่มเพื่อนที่เคยเรียนที่เดียวกันจะมีอาชีพขายประกันบ้าง  แน่นอนว่าคงมีหลายคนจากหลายร้อยคนที่เรารู้จัก  แต่เราก็จะนึกถึงเพียงบางคน  นั่นก็เป็นเพราะบังเอิญเรานึกออกแค่เขา  หรือแม้แต่จะซ่อมแซมต่อเติมบ้าน  เราก็ไม่รู้จะเรียกใคร ทั้งที่เพื่อนในชีวิตที่เคยเรียนที่เดียวกับเราอาจจะมีบางคนทำงานสร้างและต่อเติมบ้านอยู่แล้ว  แต่เราก็ลืมเขา บางทีก็เป็นเพราะเราไม่รู้ข่าวของเพื่อนครบทุกคน  เลยไม่รู้ว่าใครทำอาชีพอะไร

การเพิ่ม visibility คือการทำบางสิ่งเพื่อทำให้เพื่อนไม่ลืมเรา  ทำเพื่อให้คู่ค้าหรือพันธมิตรธุรกิจไม่ลืมเรา  ทำเพื่อให้ลูกค้าไม่ลืมเรา  เพื่อนในกลุ่ม networking ไม่ลืมเรา นี่จึงเป็นเหตุผลที่กลุ่มธุรกิจบางกลุ่มถึงนัดพบกันทุกสัปดาห์และในการประชุมก็จะมาพูดว่าเราคือใคร ทำอาชีพอะไร ชอบลูกค้าแบบไหน และมองหาอะไร อย่างสม่ำเสมอ ทำซ้ำๆตลอดปี  มันเป็นการเพิ่มการรับรู้ที่มีประสิทธิภาพมาก เพราะพูดซ้ำตลอดปี  

หากเราเห็นว่าการมีตัวตน หรือการถูกจำได้เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ต่อการขยายธุรกิจ สิ่งต่อไปนี้คือสิ่งที่จะช่วยเพิ่ม visibility ให้กับเรา ต่อเพื่อนทุกกลุ่ม  ทุกสังคม  ที่เราอยู่ด้วย  เราลองอ่านไปทีละข้อแล้วเลือกทำบางข้อที่เราสะดวกจะทำ  ยิ่งทำมากยิ่งดี  ทำบางข้อก็ดีกว่าไม่ทำ ลองไปดูกัน

pexels-christina-morillo-1181406

1 เข้าร่วมกิจกรรมการประชุมหรือ ร่วมงาน networking ต่างๆที่เราสามารถเข้าได้  ทั้งการประชุมในอาชีพแบบเดียวกัน  หรือ งานแสดงสินค้า  งานโชว์ หรือการประชุมศิษย์เก่า และไม่ลืมที่จะติดนามบัตรของเราไปด้วย  เพราะเราไปร่วมงานในโหมดการแสดงตัวตน  ไปปรากฏตัวให้ผู้คนรับรู้ถึงตัวเรา

2 เข้าร่วมกับสภาอุตสาหกรรม สมาคมวิชาชีพเดียวกับคุณ  ไปร่วมประชุม สัมมนา หรือลงเวิร์คช็อป เพื่อไปหาเพื่อนใหม่ ทำความรู้จักกับคนในแวดวงเดียวกัน เพื่อขยายคอนเน็คชั่น  คนกลุ่มนี้จะเข้าใจอาชีพของเราได้ง่าย  บางทีเราอาจจะได้ซัพพลายเออร์  หรือ ได้เพื่อนร่วมอาชีพที่ช่วยเป็นแบ็คอัพให้ธุรกิจเราได้  อย่าเพิ่งคิดว่าเขาอาชีพเดียวกับเราแล้วจะแย่งลูกค้ากัน  ส่วนมากที่พบจะเป็นผู้ช่วยแก้ปัญหาให้เราเสียมากกว่า คือ มีข้อดีมากกว่าข้อเสียในการรู้จักคนอาชีพเดียวกันหรืออาชีพใกล้เคียงกัน

pexels-eva-bronzini-6956316

3 สร้างตัวตนในฝั่งออนไลน์หรือบนอินเทอเน็ต  เริ่มด้วยการมีเว็บไซต์จะเป็นแบบส่วนตัวหรือของบริษัทก็ได้  มีโซเชียลเน็ตเวิร์คประจำตัว  การมีโพรไฟล์ในอินเทอเน็ตจะทำให้มีคนเห็นเราเพิ่มขึ้นอีกหลายร้อยเท่า  และเราควรต้องอัพเดทข้อมูลอย่างสม่ำเสมอ โพสท์เนื้อหาที่ช่วยสร้างความน่าเชื่อถือ หรือเล่าเรื่องของตัวเราอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะการเล่าเรื่องที่เกี่ยวกับความเชี่ยวชาญของเรา  พยายามเขียน story หรือเรื่องเล่า ยาวบ้าง สั้นบ้าง แล้วส่งเข้าโซเชียลเน็ตเวิร์คทุกตัวที่เราใช้งาน

4 สร้างแบรนด์ประจำตัวเราให้ชัดเจน  สื่อสารเรื่องราวที่มีคุณค่า นำเสนอความสามารถในทางบวกของเราออกสู่โลก  แสดงให้เห็นว่าเรามีความเชี่ยวชาญเรื่องอะไร  เล่าเรื่องวิธีการแก้ปัญหาให้ลูกค้าโดยอาศัยความชำนาญของเรา  วางตัวเป็นผู้เชี่ยวชาญและทำตัวให้น่าเชื่อถือ ทุกอาชีพมีเรื่องเล่ามีความน่ารู้ที่คนอาชีพอื่นไม่รู้แน่นอน  หรือแม้แต่การโพสท์โชว์ว่าเราไปทำงานอะไรในแต่ละวันก็เป็นสิ่งที่ช่วยสร้างการรับรู้ได้ดีมาก  บางคนแค่โพสท์ว่าไปส่งของให้โครงการก่อสร้าง ส่งของทุกวันก็โพสท์ทุกวัน คนที่เห็นก็จะจำได้ว่า คนโพสท์อาชีพอะไร ถึงวันที่จะใช้ของเดี๋ยวเขาก็จะถามกลับมาเอง

5 มองหาโอกาสที่จะช่วยเหลือผู้อื่น  แบ่งปันข้อมูลหรือทรัพยากรของเราที่เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น ให้คำแนะนำหรือข้อมูลในเชิงลึก  อธิบายความรู้ทางเทคนิคถ้ามีโอกาส  การให้ความช่วยเหลือผู้อื่นในรูปแบบต่างๆจะเพิ่มการรับรู้ให้คนที่กำลังต้องการความช่วยเหลือ  และไม่ลืมที่จะบันทึกเป็นเรื่องเล่าว่าเราช่วยเหลือคนอื่นอย่างไร   ทั้งหมดจะช่วยทำให้การมีตัวตนภายในเแวดวงหรือกลุ่มเพื่อนหรือกลุ่มนักธุรกิจของคุณเด่นชัดมากยิ่งขึ้น

6 หาโอกาสขึ้นพูดในบนเวที พูดในงานสัมมนา หรือแม้แต่การพูดในห้องประชุม  การพูดจะทำให้คนรู้จักคุณดีขึ้น  การแบ่งปันความรู้บนเวทีจะทำให้ผู้คนรับรู้ในความเชี่ยวชาญ  สร้างความน่าเชื่อถือได้สูงมาก ยิ่งอธิบายความรู้เชิงลึกในอาชีพของคุณได้ยิ่งทำให้ผู้คนให้ความเชื่อถือมากยิ่งขึ้น อย่ากลัวที่จะแสดงออก  แม้ว่าครั้งแรกๆจะทำได้ไม่ดี ไม่มั่นใจ  แต่ให้จำไว้อย่างหนึ่งว่า การได้รับเกียรติให้พูดบนเวทีในเรื่องราวอาชีพของเรา  นั่นเป็นเพราะเรามีความสามารถมากพอ เชี่ยวชาญในอาชีพของเรามากพอ  จนสามารถแบ่งปันให้คนอื่นได้  และยิ่งทำซ้ำ พูดซ้ำ จะยิ่งพูดได้ดีขึ้น จนในที่สุดจะไม่มีคำว่า ตื่นเวทีอีกเลย

pexels-andrea-piacquadio-3831888

7 ลองทำงานร่วมกับผู้อื่น  สร้างทีมทำโปรเจ็คใหม่ร่วมกัน  รวมศักยภาพของเรากับของเพื่อนเพื่อสร้างงานใหม่ๆ ซึ่งจะเป็นการเปิดโอกาสให้ถ่ายเทลูกค้าซึ่งกันและกัน  วิธีนี้จะได้รับการมองเห็นเพิ่มขึ้นได้อย่างรวดเร็วเพราะเราจะได้ไปปรากฏตัวในแวดวงของเพื่อน  ขณะที่เพื่อนก็จะได้มาแสดงตัวในแวดวงของเรา ในภาษาทางธุรกิจบางองค์กรจะเรียกว่าการสร้างเพาเวอร์ทีมหรือ Powerteam

8 ติดตามเพื่อนใหม่เพื่อความต่อเนื่อง  หลังจากกิจกรรมเครือข่ายหรือการประชุม เราจะได้พบคนใหม่ รู้จักเพื่อนใหม่ ให้ติดตามผลกับทุกคนที่คุณเคยพบ  อาจจะทำโดยการส่งข้อความหรืออีเมลไปทักทาย  ถ้าคุณเป็นเจ้าภาพและเพื่อนใหม่มาเป็นแขกก็ให้ส่งคำขอบคุณในวันถัดมาหลังจากได้พบ  จะดีมากถ้าเราเพิ่มคนใหม่เป็นเพื่อนในโซเชียลเน็ตเวิร์คด้วย  จะทำให้เขารับรู้ถึงตัวตนของเรามากยิ่งขึ้น และถ้าเป็นไปได้ให้วางแผนนัดพบกันในครั้งถัดไปทันทีภายในเวลาไม่เกิน 2เดือน ถ้าเพื่อนใหม่เป็นคนที่น่าจะมีโอกาสส่งต่อธุรกิจซึ่งกันและกัน

9 เข้าร่วมการพบปะหรือร่วมประชุมด้วยความรู้สึกที่คึกคัก กระตือรือร้น  มีสมาธิในการ ฟัง ถาม ตอบ  มีส่วนร่วมในการประชุมอย่างเต็มที่  อยู่กับปัจจุบัน ใช้เวลาในห้องประชุมอย่างคุ้มค่า  ไม่ฟังอย่างขอไปที  เพราะทุกสิ่งที่กล่าวมาจะช่วยเพิ่มการมองเห็นและความน่าเชื่อถือของคุณ

10 ใช้ประโยชน์จากการรีวิวของลูกค้า เราอาจจะขอให้ลูกค้าเขียนบทความสั้นๆเพื่อชื่นชมการบริการของเราหากลูกค้ารู้สึกพอใจ  และนำรีวิวเหล่านี้ไปแสดงบนเว็บไซต์หรือโพสท์ในโซเชียลเน็ทเวิร์คของเรา  การชื่นชมคุณภาพการทำงาน  เป็นสิ่งที่มีคุณค่ามากในการสื่อสารแบบปากต่อปาก  และจะทำให้การรับรู้ของเราต่อคนอื่นเป็นไปในทิศทางที่เพิ่มขึ้นและเป็นบวก  และสุดท้ายจะพาโอกาสที่ดีเข้ามาหาเราได้แน่นอน

โปรดจำไว้ว่าการสร้างการรับรู้ในภาคธุรกิจต้องใช้เวลาและความพยายามอย่างเข้มข้น  และต้องมีความสม่ำเสมอเป็นพื้นฐานสำคัญ   ให้พยายามมีสมาธิกับการพัฒนาการรับรู้หรือ Visibility อย่างจริงจังเพื่อขยายธุรกิจของเรา

รวมเล่มหนังสือจากบทความที่เขียนสะสม

810837

ผมเขียน content ในบล๊อกแห่งนี้มานานเกิน 10 ปีแล้ว และมีเนื้อหาเกี่ยวกับธุรกิจบางส่วนที่เขียนสรุปย่อเอาไว้ให้อ่านพอเข้าใจ เนื้อหาเกี่ยวกับการตลาดแบบบอกต่อ ซึ่งผมก็ใช้เนื้อหานี้ในการบอกเล่าให้กับเพื่อนนักธุรกิจกลุ่มหนึ่งเป็นประจำ ซึ่งพอผ่านมาหลายปี เนื้อหาก็มีหลายสิบตอน ลองเอามารวมแล้วจัดหน้าบนหน้ากระดาษ A5 ได้เกือบ 200หน้า ก็เลยรวมเป็นเล่มไปเลยดีกว่า

ปก การตลาดแบบบอกต่อ_ปกหน้า การตลาดแบบบอกต่อ

ปก การตลาดแบบบอกต่อ_ปกหลัง การตลาดแบบบอกต่อ

เมื่อคิดจะรวมเล่มก็ต้องออกแบบปก เขียนคำนำ สารบัญ ก็ใช้เวลาประมาณ 5 วันในการรวมเนื้อหา เขียนคำนำเพิ่มเติมใช้ความสามารถในการทำ Table of content ของโปรแกรม Microsoft word ช่วยสร้างสารบัญให้ ส่วนออกแบบปกหน้าและปกหลังก็ใช้โปรแกรมจัดหน้า illustrator หยุดยาว 5 วันผ่านไปก็ได้หนังสือมา 1 เล่มที่พร้อมจะแจกจ่ายเป็น e-book ซึ่งตอนนี้กำลังคิดเรื่องหาทางจัดจำหน่ายในระบบของเว็บขายหนังสือด้วย ตั้งใจว่าจะทำเป็นทั้งเวอร์ชั่น E-book และเวอร์ชั่นกระดาษ

810852

ดิจิทัลมาเก็ตติ้งคือความรู้ที่จำเป็นในยุคนี้

“ดิจิทัลมาเก็ตติ้งคือความรู้ที่จำเป็นในยุคนี้”

ในอดีตเมื่อเรามีสินค้าที่ผลิตออกมา  เราก็จัดจำหน่ายด้วยการนำไปวางขายในร้านค้า  มีทั้งร้านค้าปลีก ค้าส่ง  ร้านค้าในห้างสรรพสินค้า  และบางอุตสาหกรรมก็ขายส่งไปต่างประเทศ  บางคนก็ขายให้ตัวแทนจำหน่ายแล้วตัวแทนจำหน่ายก็ไปกระจายสินค้าสู่ห้าง สู่ร้านค้าที่ปลายทางอีกทอดหนึ่ง บางคนก็อาจจะต้องไปเช่าพื้นที่ในห้างเพื่อขายสินค้าของตัวเอง  เป็นที่มาของคำว่าเปิดร้าน  การเปิดร้านเราต้องเลือกทำเล  เลือกห้าง เลือกภาพลักษณ์ของห้างนั้นๆเพื่อทำการขายสินค้าของเรา

ยอดขายที่ดีมาจากการขายได้จำนวนมาก  การขายได้จำนวนมากมาจากคนซื้อรู้จักสินค้า  คนรู้จักสินค้าเพราะการโฆษณา  การโฆษณาสินค้าหรือแผนการตลาดจึงเป็นสิ่งที่กำหนดความอยู่รอดของธุรกิจ  เราจำเป็นต้องรู้ว่าเราจะโฆษณาอะไร  ไปสู่ลูกค้าคนไหน  ด้วยวิธีการหรือด้วยสื่อในช่องทางใด  

หากคุณเปิดร้านอาหาร  นอกจากการตั้งร้านตกแต่งให้สวยงามเรียบร้อยแล้ว  สิ่งที่ต้องทำลำดับถัดไปก็คือ บอกคนในพื้นที่รอบร้านอาหารว่ามีร้านนี้เปิดบริการอยู่ ในยุคก่อนจะมีโซเชียลเน็ตเวิร์ค การบอกคนในพื้นที่จะทำผ่านใบปลิว  บ้างก็โฆษณาทางวิทยุ  ออกโทรทัศน์  ซื้อหน้าโฆษณาในนิตยสารและหนังสือพิมพ์   การทำใบปลิวถ้าไม่แจกด้วยตัวเองก็ต้องจ้างคนไปแจก  จ้างคนไปหย่อนใบปลิวหน้าบ้าน  หย่อนตู้ไปรษณีย์ของแต่ละบ้าน  นั่นคือการทำมาเก็ตติ้งแบบออฟไลน์ มีต้นทุนการทำสื่อ  มีต้นทุนการซื้อเวลาของสถานีวิทยุและโทรทัศน์  และมีต้นทุนในการกระจายสื่อให้ทั่วถึง

สินค้าแบบเดียวกัน หรือถ้าเป็นร้านอาหารแบบเดียวกันแล้วจะโฆษณาในยุคอินเทอเน็ตแบบปัจจุบัน นอกจากวิธีเก่าแบบออฟไลน์แล้ว เรายังมีทางเลือกอื่นที่ทรงประสิทธิภาพ  อย่างวิธีการเปิดเว็บไซต์  เปิดเพจในโซเชียลมีเดีย  เพราะผู้คนยุคปัจจุบันมีสมาร์ทโฟนติดตัว ทุกคนเข้าสู่อินเทอเน็ตได้ตลอดเวลา  และทุกคนเป็นสมาชิกโซเชียลเน็ตเวิร์คบางตัวอยู่แล้ว  เราก็แค่เอาร้านของเราไปเปิดตัวในโซเชียลเน็ตเวิร์คที่กลุ่มเป้าหมายเราเล่นอยู่ แล้วก็ซื้อโฆษณาในโซเชียลเน็ตเวิร์ค  กลุ่มเป้าหมายของเราก็จะได้รับรู้ข้อมูลของร้านอาหารของเรา เห็นภาพ เห็นสิ่งที่เราอยากนำเสนอ  และเราเลือกได้ว่าจะเข้าถึงลูกค้าแบบไหน ชายหรือหญิง ช่วงอายุเท่าใด  มีกำลังซื้อมากน้อยแค่ไหนก็เลือกได้ และสามารถเปลี่ยนภาพโฆษณาให้แต่ละกลุ่มเป้าหมายที่จะมองเห็นภาพเห็นโปรโมชั่นแตกต่างกันได้ นี่คือความสามารถของการตลาดในยุคอินเทอเน็ตที่ทำได้มากขึ้นละเอียดขึ้น ประหยัดเวลากว่าแบบเก่า  ประหยัดแรงกว่า เราเรียกการตลาดที่เราทำบนอินเทอเน็ตว่า ดิจิทัลมาเก็ตติ้ง

ความทรงพลังของดิจิทัลมาเก็ตติ้งยังมีมาในรูปแบบความเร็ว ความง่ายในการสื่อสาร  เราสามารถเพิ่มช่องทางการสอบถามความพึงพอใจเพื่อนำมาปรับปรุงบริการหรือปรับปรุงสินค้าของเราให้ดียิ่งขึ้น  การร้องเรียนของลูกค้าผ่านระบบอินเทอเน็ตจะทำให้เราสามารถรับรู้ปัญหาที่เกิดขึ้นและสามารถลงมือแก้ปัญหาได้เร็ว  ทำให้ลดผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในสินค้าได้  บริษัทยังสามารถใช้เทคโนโลยีเพื่อกระตุ้นลูกค้าเก่าให้กลับมาซื้อซ้ำได้  ทำให้ผู้ประกอบการบางคนแทบจะหันหลังให้การตลาดแบบออฟไลน์หรือแบบดั้งเดิม  บางคนเลิกพิมพ์ใบปลิว  เลิกเดินแจกใบปลิวไปแล้ว  เพราะดิจิทัลมาเก็ตติ้งเข้าถึงผู้คนได้มากกว่าในต้นทุนการตลาดที่ต่ำกว่า  การเรียนรู้และใช้งานดิจิทัลมาเก็ตติ้งจึงเป็นทางเลือกที่ต้องเลือกในปัจจุบัน 

การทำการตลาดที่แท้จริงก็จะหมายถึงการใช้เครื่องมือทั้งแบบออฟไลน์และออนไลน์ ใช้ทรัพยากรทั้งหมดที่เรามีเพื่อทำให้ลูกค้าซื้อสินค้าของเรานั่นเอง  บริษัทของเราควรจะมีแผนพัฒนาทั้งสินค้าและพัฒนาคนตลอดเวลา  การพัฒนาคนจะเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการทำธุรกิจอย่างยั่งยืน  ถ้าธุรกิจของเราเป็นการทำงานแบบยุคเก่า  ไม่ยอมใช้เครื่องมือของดิจิทัลมาเก็ตติ้งในการทำตลาดเลยเราจะสูญเสียตลาดให้คู่แข่ง  เพราะคู่แข่งที่เกิดใหม่ทั้งหมดจะเข้าสู่ตลาดพร้อมเทคโนโลยี  คู่แข่งเก่าที่ปรับตัวพัฒนาตัวเองก็จะเก่งยิ่งกว่าเดิม  สื่อการตลาดชิ้นเดียวกันสามารถใช้เทคโนโลยีส่งโปรโมชั่นให้ว่าที่ลูกค้าได้นับล้านคนทั่วโลกพร้อมกัน  ซึ่งหากเราไม่รู้จักเครื่องมือ  ใช้ไม่เป็น สุดท้ายความไม่รู้จะเป็นปัญหา  และเราจะสูญเสียยอดขายที่ควรเป็นของเรา  หากเราละเลยไม่เรียนรู้เกี่ยวกับดิจิทัลมาเก็ตติ้งในวันนี้  วันข้างหน้าเราก็จะถูกบังคับให้เรียนรู้เพื่อให้ทันคู่แข่งอยู่ดี  แต่เมื่อวันนั้นมาถึงก็เท่ากับตลาดและคู่แข่งเริ่มทิ้งเราไปหลายก้าวแล้ว

ในเรื่องการทำตลาดด้วยโซเชียลเน็ตเวิร์คก็มีประเด็นหลายอย่างที่ต้องคิดและวางแผนให้รอบคอบ  บางบริษัทลงทุนโฆษณาทางเฟสบุ๊คมายาวนาน แล้วก็ทำยอดขายได้เรื่อยๆจนวางใจ  วันหนึ่งเกิดปัญหา ไม่ว่าจะเป็นเพจโดนปิด  โดนขโมย  หรือ หายไปเฉยๆ  สิ่งที่ลงทุนไว้  หรือกลุ่มเป้าหมายที่เรายิงโฆษณาไปถึงพวกเขาเกิดสูญหาย  การเชื่อมโยงกับผู้คนในเพจหายไปหมดเลย   ข้อมูลการติดต่อ การขาย การส่งสินค้า ข้อมูลลูกค้าควรจะนำมาเก็บในช่องทางอื่นแบบออฟไลน์ด้วย  จะเก็บในรูปแบบไฟล์  บันทึกชื่อที่อยู่เบอร์โทรลูกค้าไว้ในไฟล์เอกสาร excel ก็ได้  เรื่องเหล่านี้ควรทำอย่างสม่ำเสมอ  เพราะเหตุการณ์เพจโดนแฮ้คเกิดขึ้นตลอดเวลาทั่วโลก   และนอกจากแพลตฟอร์มอย่างเฟสบุ๊คแล้ว  โลกเราก็ยังมีอีกหลายแพลตฟอร์มให้เราเข้าไปทำตลาด  เราควรเข้าไปทุกแพลตฟอร์มที่มีกลุ่มเป้าหมายของเราอยู่ในนั้น  ทั้ง ไลน์  ทวิตเตอร์ ติ๊กต๊อก และอื่นๆ  เหมือนกับคำที่เคยมีคนบอกว่า อย่าเก็บไข่ไว้ในตระกร้าใบเดียว  เราจึงควรทำตลาดดิจิทัลมาเก็ตติ้งในช่องทางที่หลากหลาย ทำในแพลตฟอร์มทั้งหมดที่ลูกค้าของเราอยู่ในนั้น

จากการเปิดบริษัทสอนทำดิจิทัลมาเก็ตติ้งมาหลายปี ผู้สอนยังรับจ้างทำการตลาดออนไลน์ให้ด้วย  เพื่อพิสูจน์ว่าสิ่งที่สอนในหลักสูตรเป็นสิ่งที่นำมาทำจริงแล้วได้ผล  เพราะการลงมือยิงโฆษณาทำให้รู้ว่าต้องปรับปรุงความรู้ที่สอนในแง่ใดบ้าง  ต้องเพิ่มความทันสมัยของหลักสูตรทุกครั้งที่เปิดกลุ่มการสอนใหม่ตลอดเวลา  เพราะทุกแพลตฟอร์มก็ปรับปรุงตัวเองตลอดเวลานั่นเอง

นอกจากบริษัทเอกชนที่มองเห็นความสำคัญของการเรียนรู้ดิจิทัลมาเก็ตติ้งแล้ว  เป็นเรื่องน่ายินดีที่มหาวิทยาลัยก็เริ่มปรับปรุงหลักสูตรด้านมาเก็ตติ้ง  มีการเชิญไปสอนในหลักสูตร ปริญญาตรี และปริญญาโท  ส่วนของหน่วยงานราชการอย่างกระทรวงพาณิชย์ก็เชิญไปสอนให้กับกลุ่มผู้ประกอบการอยู่หลายครั้งต่อปี  ความรู้เรื่องดิจิทัลมาเก็ตติ้งกำลังจะเป็นเครื่องมือหลักในการเพิ่มผลประกอบการของภาคธุรกิจ  เริ่มเรียนรู้วันนี้เพื่อให้พรุ่งนี้เรายังอยู่ในธุรกิจของเราต่อไป

ข้อมูลโดย
James 062 394 9265
https://www.facebook.com/GoldfingerDigital

ทำไมเฟสบุ๊คเก่งเรื่องหาลูกค้า

ทำไมเฟสบุ๊คเก่งเรื่องหาลูกค้า

20180424094626_IMG_0397

น่าจะมีหลายคนสงสัยว่าทำไมเฟสบุ๊คถึงฉลาดเกี่ยวกับคน  เฟสบุ๊ครู้ว่าเราชอบอะไรและไม่ชอบอะไร มันเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นกับพฤติกรรมมนุษย์มาก่อน  บางคนอาจจะเผลอคิดไปเลยว่าเฟสบุ๊คน่าจะดักฟังเราอยู่ตลอดเวลา  เพราะบางทีการนั่งคุยเรื่องสิ่งของอย่างเช่น เสื้อผ้า  รองเท้า  ไปเที่ยว  ไปดูรถคันใหม่มา  พอวางสายจากการสนทนา หรือกลับถึงบ้าน  หลังจากนั้นไม่นานเมื่อเราหยิบมือถือขึ้นมาดู หรือเข้าไปเล่นเฟสบุ๊คก็พบว่ามีโฆษณาสินค้าที่เราเพิ่งพูดถึง หรือเพิ่งไปดูมา  และเรื่องนี้ก็เกิดขึ้นบ่อยมากกับชีวิตในทุกวันนี้

ในฐานะที่เป็นผู้ทำการสอนการยิงโฆษณาในเฟสบุ๊คมาหลายปี  จะขอบอกว่าวันนี้เฟสบุ๊คเก่งเรื่องคนมากจริงๆ  เฟสบุ๊ครู้จักเราหรือรู้จักเจ้าของเครื่องโทรศัพท์มือถือในหลายแง่มุม  และรู้ลึกรู้จริงจนอาจจะทำนายพฤติกรรมได้เลย  แล้วหลายคนก็อยากรู้ว่าทำไมเฟสบุ๊คถึงมีความสามารถเช่นนั้น  ถ้าจะให้เล่าก็ต้องเล่าไปที่จุดเริ่มต้นว่าจริงๆแล้วเฟสบุ๊คเก่งเรื่องชาวบ้าน  เฟสบุ๊คเคยเปิดเผยข้อมูลว่า คนเข้าไปเล่นเฟสบุ๊คมี 2 วัตถุประสงค์คือ

1 เข้าไปดูเรื่องชาวบ้าน คนอื่นทำอะไร ไปไหน โพสท์อะไร 

2 ไปดูว่าชาวบ้านมาดูอะไรของเรา  เราโพสท์แล้วมีคนอ่านไหม มีคนมากดไลค์  หรือพิมพ์คอมเม้นท์หรือเปล่า

ข้อหนึ่งคงไม่ต้องสงสัย  เพราะเป็นสิ่งที่เราใช้เวลาค่อนข้างมากกับเฟสบุ๊ค  เราจะไปดูความเป็นไปของสังคม ชีวิตเพื่อนเรา ดูชีวิตคนที่เรารู้จัก  เพื่อนเราไปไหน เที่ยวไหน  กินอะไร ซื้ออะไร  เราดูสิ่งเหล่านี้ทุกวันผ่านเฟสบุ๊ค

ส่วนข้อสองเวลาเราจะดูว่าชาวบ้านมาดูอะไรของเรา ก็จะดูจากชาวบ้านมากดไลค์เรื่องของเรา  พอเราไปเที่ยวมีรูปสวยๆกลับมาก็โพสท์ลงเฟสบุ๊ค เพื่อนได้เห็น เพื่อนก็กดไลค์   บางทีเราก็ขอให้เพื่อนมากดไลค์รูปของเราด้วยซ้ำไป  เพื่อนบางคนก็เป็นขาประจำชอบดูภาพที่เราโพสท์  พ่อแม่บางคนก็โพสท์รูปเด็ก  ความเปิ่นความทะเล้นของลูก  แล้วมีคนมาคอมเม้นท์เราก็รู้สึกดี

เหตุที่เฟสบุ๊คเก่งเรื่องคน เพราะเฟสบุ๊คเก็บข้อมูลของเราในออนไลน์ในระดับที่ลึกมากถึงลึกที่สุด  โดยมีข้อมูลของเราอยู่ 4 ช่องทางที่เฟสบุ๊คจะรู้จักตัวเรา  และรู้ลึกขึ้นเรื่อยๆตามเวลาที่ผ่านไป รู้มากขึ้นตามพฤติกรรมที่เราทำผ่านเฟสบุ๊คทั้งรู้ตัวและไม่รู้ตัว เราลองมานับหรือทบทวนกันว่าเฟสเก็บข้อมูลเรา 4 ช่องทางนี้ ที่ไหน อย่างไรกันดีกว่า

http://www.freepik.com

ช่องทางที่1  เฟสบุ๊คเก็บข้อมูลของเราจากโพรไฟล์ที่เราสมัคร  การกรอกข้อมูลครั้งแรก  ชื่อ อีเมล  และข้อมูลข้างเคียงอื่นๆเราก็มักจะมีบอกหรือกรอกแทบจะครบทุกช่องเลย  อย่างเช่น ข้อมูล อายุ โรงเรียน ทำงานอะไร ชอบเที่ยวแบบไหนดูหนังอะไร อ่านหนังสืออะไร  เราใส่ข้อมูลความชอบส่วนตัวให้กับเฟสบุ๊คไปแล้วตั้งแต่ตอนสมัครเข้าใช้งานครั้งแรก  และบางคนก็กรอกประวัติการศึกษา  รวมถึงประวัติการทำงานก็มีการกรอกเข้าไปด้วย

พอเรามีประวัติที่ละเอียดขึ้น ผู้ประกอบการต่างๆก็ใช้ประโยชน์จากประวัติการศึกษาของผู้ใช้เฟสบุ๊คได้ อย่างเช่นเรื่องประวัติการศึกษา  ถ้าเราจะค้นหาคนที่สนใจจะซื้อสินค้าของเราโดยอยากได้คนที่มีกำลังซื้อ  เราก็ค้นหาจากประวัติการศึกษาได้เพราะประวัติการศึกษาจะเกี่ยวข้องกับกำลังซื้อหรือรายได้  ถ้าเราจะหาลูกค้าที่จบมหาวิทยาลัยชั้นนำ  กลุ่มนี้ก็จะมีกำลังซื้อมากกว่าคนที่จบการศึกษาระดับมัธยม  หรือแม้แต่ประวัติการศึกษาจากเมืองนอกก็จะได้กลุ่มเป้าหมายที่มีกำลังซื้อสูงมาก  สิ่งนี้ภาคธุรกิจใช้ประโยชน์จากเฟสบุ๊คได้โดยตรง

ในส่วนข้อมูลประวัติการทำงาน  ก็ช่วยหาลูกค้ากระเป๋าหนักได้  บางคนใส่ข้อมูลการทำงานระดับสูง  คนเรามักจะใส่ประวัติการทำงานที่สวยหรูละเอียดยิบ  คนส่วนมากอยากใส่โพรไฟล์หน้าที่การงานที่ดี หรูหรา  ชอบที่จะเล่าเรื่องการเรียนจบแล้วเรียนต่อปริญญาโทที่เมืองนอก  ไปต่อปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยท๊อปเท็นของอเมริกา  บางคนยังพยายามเล่าต่อด้วยว่ารับงานเป็น MD ให้บริษัทเอกชนอยู่เป็นปีตั้งแต่ยังเรียนไม่จบปริญญาเอก แถมยังมีบริษัทมาซื้อตัวไปเป็น ceo  เรียกว่าใส่ข้อมูลระเอียดยิบราวกับพระเอกหนังจากวอลสตรีท  นี่คือธรรมชาติของคนเล่นเฟสบุ๊คส่วนใหญ่  จึงทำให้เจ้าของสินค้า หรือนักการตลาด online สามารถใช้ประโยชน์จากโพรไฟล์ขั้นเทพเหล่านี้เพื่อคัดกรองหาลูกค้าที่เหมาะกับสินค้าของเราได้

http://www.freepik.com

ช่องทางที่2 เก็บข้อมูลจากฟีดที่เราอ่าน  การเลื่อนหน้าจออ่านข้อมูลในเฟสบุ๊คไปเรื่อยๆ  เฟสบุ๊คก็เก็บข้อมูลการใช้งานของเราตลอดเวลา  เฟสบุ๊คไม่ได้เก็บข้อมูลแค่สิ่งที่เราอ่าน แต่เริ่มเก็บตั้งแต่วิธีที่เราไถฟีดเลื่อนหน้าจอเลย เฟสบุ๊คเก็บข้อมูลอัตราความเร็วของนิ้วโป้งที่เลื่อนหน้าจอ  ความเร็วเฉลี่ยในการเลื่อน 1 หน้าจอของคนทั่วโลกอยู่ที่ประมาณหน้าละ 1 วินาที  และเมื่อเราเลื่อนไปเรื่อยๆจนถึงสิ่งที่เราสนใจ เราจะเลื่อนช้าลง  เฟสบุ๊คก็จะมีตัว ai มาจับพฤติกรรมของเราได้ และเก็บข้อมูลว่า เราเห็นข้อมูลอะไรแล้วทำให้เราไถหน้าจอช้าลง หรือ ข้อมูลอะไรทำให้เราหยุดไถหรือหยุดเพื่ออ่าน เฟสบุ๊คก็จะบันทึกไว้ว่าเราหยุดที่เนื้อหาแบบไหน   และหากเราหยุดนานแล้วเอานิ้วไปแตะเนื้อหาเพื่ออ่านละเอียดขึ้น  เฟสบุ๊คก็จะตรวจจับได้ว่าเราสนใจเรื่องนั้น  ระบบจะไปดูเนื้อหาในโพสท์นั้น  caption หรือ details ภายในเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร ภาพอะไร วิดีโอเกี่ยวกับอะไร  เฟสบุ๊คจะบันทึกสิ่งนั้นเอาไว้ว่าเป็นเรื่องที่เราสนใจ  และถ้าเราอยู่กับโพสท์นั้นอย่างจริงจังมากขึ้นถึงกับไปกดไลค์  เฟสบุ๊คก็จะบันทึกไว้ว่าเรื่องนี้เราชอบมาก   และพอเราทำมากขึ้นไปอีกขั้นเราแสดงความชอบโดยการใส่คอมเม้นท์ เฟสบุ๊คก็จะเก็บข้อมูลว่าเราชอบมากเป็นพิเศษ  

บางโพสท์หากคนใช้งานยังไม่ว่างอ่าน บางคนใช้วิธีกดแชร์ แล้วใส่ tag เอาไว้ว่า “แปะ”   หรือ “เดี๋ยวมาอ่าน”  นั่นก็จะยิ่งทำให้เฟสบุ๊ครู้ว่าเราชอบเรื่องนั้นในระดับซีเรียสสุดๆ  พฤติกรรมแบบนี้อยู่ในสายตาของเฟสบุ๊คทั้งหมด  การกดเข้าไปดูภาพ  ดูคลิปวิดีโอ ก็ทำให้เฟสบุ๊คเก็บข้อมูลได้ลึกขึ้น และทำให้เฟสบุ๊คเริ่มทำการคาดเดาว่าเราน่าจะชอบเรื่องแนวนี้   เฟสบุ๊คก็จะไปหาเนื้อหา ทั้งภาพและคลิปที่คล้ายกันมาให้เราดู  และยิ่งเราตอบสนองต่อสิ่งที่เฟสบุ๊คหยิบยื่นให้  เฟสบุ๊คก็จะยิ่งมีข้อมูลที่ถูกต้องมากยิ่งขึ้น

http://www.freepik.com

ช่องทางที่3 เก็บจากลิงค์ภายนอกที่เราไปกด   ถ้าในโพสท์ของเฟสบุ๊คมีเนื้อหาเว็บที่เป็นลิงค์สู่ภายนอก  เมื่อเรากด เราจะออกกระโดดออกจากเฟสบุ๊ค   เฟสบุ๊คจะคอยจดจำว่า เนื้อหาเกี่ยวกับอะไรที่ทำให้เราออกจากเฟสบุ๊ค สิ่งนั้นจะเป็นสิ่งที่เราสนใจมากเช่นกัน  ความสนใจแบบนี้ก็จะถูกบันทึกไว้  ตลอดเวลาที่เราใช้งานเฟสบุ๊ค  ระบบ ai ของเฟสบุ๊คจะเรียนรู้ตลอดเวลาว่าเราทำอะไร กดอะไร อ่านอะไร ไปอ่านเรื่องของใครบ่อยๆ  แม้แต่การออกจากเฟสแล้วไปเล่นใน app อื่น หรือไปเล่นในเว็บอื่น  เฟสบุ๊คก็จะยังรู้ได้ว่าเราไปไหน  เพราะเฟสบุ๊คมีเครื่องมือที่ชื่อว่า pixel ที่เป็นชุดคำสั่งสำหรับการฝังไว้ในเว็บ โค้ดชุดนี้จะถูกสร้างจากการโฆษณาของเรา  เจ้าของเพจจะสามารถใส่ pixel ไว้ในเว็บได้  และชุดคำสั่งนี้จะส่งข้อมูลการใช้งานของผู้คนกลับมายังเฟสบุ๊ค  มันละเอียดถึงระดับที่ว่า ลูกค้าอยู่หน้าไหน ลูกค้าอยู่ในเว็บนานแค่ไหน  กำลังดูอะไรอยู่  ทุกอย่างจะถูกรายงานทันที  เจ้าของสินค้าจะรู้ว่ามีคนกำลังใช้เวลากับเว็บ  เราสามารถใช้เงื่อนไขพฤติกรรมนี้เพื่อส่งโฆษณาไปให้เขาได้เลย  พอเขาเปิดเฟสอีกครั้ง โฆษณานี้จะขึ้นในเครื่องเขาในหน้าแรกๆทันที

แล้วกรณีที่บริษัทเราไม่มีเว็บเป็นของตัวเอง เราก็ยังสามารถไปเปิดร้านในมาเก็ตเพลสอย่าง lazada หรือ shopeeได้  เมื่อเราเอาสินค้าไปวางขาย  ตัวระบบของมาเก็ตเพลสก็จะมีเครื่องมือที่จะรายงานว่า มีคนดูโปรดักส์ของเราอยู่กี่คน  เครื่องมือของเฟสบุ๊คนี้ถ้าติดตั้งในเว็บเรียกว่า facebook pixel ถ้าติดตั้งใน application จะเรียกว่า facebook SDK

เคยสังเกตุไหมว่าเมื่อเราดูเว็บagoda เพื่อดูห้องพักโรงแรม  พอเราออกจาก agoda แล้วไปเล่นเฟสบุ๊ค เราจะเห็นโฆษณาจาก agoda เข้ามาในเฟสบุ๊คของเราอีกรอบ  แทบจะทันที  มันเป็นการทำงานของระบบ pixel เวลาเราดูข้อมูลห้องพักโรงแรม แล้วเรายังไม่จอง เมื่อเราไปเล่นในเว็บอื่น หรือ กลับไปเล่นในเฟสบุ๊ค  เราจะไปเจอโฆษณาห้องพักนั้นในเฟสบุ๊ค  โฆษณาจะตามติดไปกับเราอีกพักใหญ่ๆจนกว่าเราจะซื้อ  และเมื่อมีการซื้อไปแล้ว ระบบก็จะรับรู้และเตรียมโฆษณาสินค้าอื่นที่เกี่ยวข้องให้กับเรา  อย่างเช่น เมื่อเราดูโฆษณาเคสโทรศัพท์มือถือ พอดูแล้วเลือกแต่ยังไม่ซื้อ  เราจะเห็นโฆษณาเคสโทรศัพท์เข้ามาในเฟสบุ๊คอย่างสม่ำเสมอ  และเมื่อมีการซื้อไปแล้วระบบก็จะเปลี่ยนโฆษณาโดยอัตโนมัติ  เฟสบุ๊คอาจจะเอาสายชาร์จและเพาเวอร์แบงค์มาให้เราดูแทน  นั่นคือความฉลาดของระบบ ai  ซึ่งเว็บไซต์และ app หลายๆตัวก็มีความสามารถแบบนี้เป็นส่วนใหญ่  เราเรียกกระบวนการเปลี่ยนสินค้าที่โฆษณานี้ว่า cross selling หรือขายสินค้าที่เกี่ยวข้อง  ซึ่งจะมีอีกคำที่มาคู่กันคือ upselling หรือ ขายสินค้าในปริมาณที่มากขึ้นหรือความพยายามที่จะทำให้นักช็อปจ่ายเงินมากขึ้น

digital-airport-29nov2005f66

ช่องทางที่4 เก็บจาก location หรือ gps บนโทรศัพท์  ปกติที่เราพกโทรศัพท์ติดตัวไปตลอดเวลา  โทรศัพท์ก็จะบันทึกสถานที่ที่เราเดินทางไป เฟสบุ๊คจะรู้ตำแหน่งของเรา  ผู้ประกอบการสามารถใช้ประโยชน์จากตำแหน่งของลูกค้าได้  เจ้าของร้านอาหารสามารถโฆษณาให้คนที่พักอาศัยหรือทำงานใกล้ร้านค้าได้เห็นโฆษณาเมนูอาหารได้  ร้านอาหารไม่ต้องใช้วิธีดั้งเดิมในการเดินแจกใบปลิว  ถ้าเป็นเจ้าของร้านก๋วยเตี๋ยวเราก็สามารถให้เฟสบุ๊คหาคนสนใจก๋วยเตี๋ยวในพื้นที่ ระยะทางไม่เกิน 3 กม. แล้วส่งโฆษณาเข้าไปที่มือถือของเขาได้เลย  ตัวเลข 3 กม.เป็นตัวเลขสวรรค์ ตัวเลขนี้มาจากผู้ให้บริการส่งอาหารแล้วพบว่าลูกค้าส่วนมากจะซื้ออาหารไม่เกิน 3.2 กม. ด้วยเหตุผลว่าค่าส่งจะถูก หรือ ยอมรับค่าส่งได้  ถ้าคุณเป็นเจ้าของร้านอาหาร ก็ควรโฆษณาแล้วหาลูกค้าในระยะ 3 กม. ก่อน หากตอบสนองลูกค้าทัน สามารถรับลูกค้าเพิ่มได้ก็ค่อยเพิ่มระยะทางให้ไกลขึ้นได้

ถ้าคุณเป็น โรงแรม หรือทำธุรกิจท่องเที่ยว  คุณก็สามารถใช้เฟสบุ๊คหาลูกค้าให้ได้เลย  อย่างเช่น ตอนที่เราเดินลงจากเครื่องบินในสนามบินเชียงใหม่  โฆษณารถเช่ารถรับจ้างก็จะเด้งเข้ามาในโทรศัพท์ทันที  เรื่องนี้เกิดขึ้นตลอดเวลาที่สนามบิน  ผู้ให้บริการที่ใช้เฟสบุ๊คหาลูกค้าเช่ารถย่อมไม่พลาดวิธีนี้

เราพอจะเข้าใจได้แล้วว่าเฟสเก็บข้อมูลจาก 4 แหล่งอย่างประสิทธิภาพ  มีความถูกต้องสูงมาก  และเมื่อนำข้อมูลพฤติกรรมทั้งหมดมาประมวลผลทำให้เฟสบุ๊คมีความสามารถในการพยากรณ์ว่าใครน่าจะเป็นลูกค้าเราโดยมีความแม่นยำมากถึง 85%   ความแม่นยำนี้ทำให้มีหลายคนถึงกับพูดว่า เฟสบุ๊ครู้จักตัวเรายิ่งกว่าตัวเราเองเสียอีก  ซึ่งทำให้ข้อสังเกตเรื่องการดักฟังกลายเป็นสิ่งที่ไม่มีความจำเป็นต้องทำเลย  เพราะเฟสบุ๊ครู้จักเราลึกมากจากแหล่งที่มาข้อมูลทั้งหมดที่กล่าวมา

สำหรับธุรกิจ เฟสบุ๊คสามารถหาคนที่น่าจะสนใจสินค้าของเรามาให้ได้อย่างต่อเนื่อง  เรียกได้ว่าเฟสบุ๊คหา opportunity ให้กับเรา ในขณะเดียวกันสินค้าของเราก็ต้องมีความพร้อมที่จะปิดการขายด้วย  ฝ่ายขายของธุรกิจต้องมีความสามารถโน้มน้าวให้ลูกค้าซื้อด้วยถึงจะเกิดผลลัพธ์   แปลว่านอกจากความรู้เรื่องการยิงโฆษณาให้ตรงกลุ่มเป้าหมายแล้ว งานหลังบ้านอย่างทีมเซลส์ที่จะปิดการขาย ทีมเก็บเงิน ทีมส่งสินค้าก็ต้องพร้อมเช่นกัน  

ข้อมูลโดย
James 062 394 9265
https://www.facebook.com/GoldfingerDigital

IMG_0845

nec – referral source คืออะไร หาได้จากไหน

IMG_0229

คุณอาจจะคิดว่า ผู้ที่น่าจะให้ referral แก่เราบ่อยๆได้ก็คือลูกค้าเก่าของเรา เราคิดอย่างนั้น และมันเป็นเช่นนั้นหรือไม่  เชื่อว่าหลายคนก็คิดแบบนี้  และเราก็มักจะพูดติดปากว่า ลูกค้าเราใช้บริการเราแล้วพอใจ แล้วก็บอกต่อ แล้วก็แนะนำลูกค้าคนต่อไปมาให้  มันอาจจะเคยเกิดขึ้นบ้าง แต่ลองคิดดูให้ดีว่า มันสามารถเกิดขึ้นบ่อยๆหรือเปล่า  แล้วถ้าเราเชื่ออย่างนั้น เราก็อาจจะถลำตัวไปกับการใช้เวลากับลูกค้าของเรา จนวันนึงเราพบว่า เราคิดผิด

IMG_0536

ลูกค้าเก่าช่วยบอกต่อทำให้เกิดงานก็จริง แต่ในระยะยาวย่อมไม่ใช่ และจะทำให้เราเกิดผลเสียในภายหลังถ้าเรามัวแต่ใช้เวลากับลูกค้าเก่าของเราอย่างผิดวัตถุประสงค์  ผู้ที่จะให้ธุรกิจกับเราในระบบ referral marketing คือคนที่เราแนะนำงานให้เขานั่นเอง  คนที่เราส่งงานให้  คนที่เขาได้รับการเทรนนิ่งมาแนวเดียวกับเราและมีกลุ่มลูกค้าคล้ายๆเรา เรามาลงรายละเอียดกัน

คนที่ได้รับการฝึกฝนให้มองหางานให้เพื่อน หรือ เพื่อนใน powerteam ของเราที่มีความเข้าใจและสามารถใช้เวลาในการสร้าง network ที่มีคุณภาพต่างหากที่จะเป็นแหล่ง referral ให้กับเรามากกว่าลูกค้าเก่าทั้งหลายที่ผ่านเราไป  เพราะว่า เพื่อน powerteam ของเราผ่านการเรียนรู้ ผ่านการฝึกฝนมาเหมือนกับเรา อ่านตำราเดียวกับเรา และเห็นคุณค่าของการใช้เวลากับ powerteam เหมือนๆกับเรา  เพื่อนเราจะพูดหางานให้เราแทนตัวเราได้ เพราะเพื่อนเราฟังเราพูดทุกสัปดาห์  และผ่านการศึกษาซึ่งกันและกัน หรือ ทำ 1-2-1ด้วยกันแล้ว  และเราทำแบบนี้กับลูกค้าของเราไม่ได้นั่นเอง

IMG_0151

หากเราไปหาลูกค้าของเราเองและไปบอกไปสอนลูกค้าเราว่าเราอยากได้อะไร ขอให้ลูกค้าช่วยหา referral ให้หน่อย ลองคิดดูว่ามันจะออกมาน่าเกลียดแค่ไหน  ลูกค้าของคุณหวงแหนเวลาอันมีค่า เขาอาจจะคิดว่า ทำไมคุณไม่เอาเวลาพูดคุยเหล่านี้ไปทำงานของลูกค้าให้เรียบร้อย เอาเวลาไปทำในสิ่งที่ลูกค้าจ้างคุณทำ ทำไมต้องมาคุยนานๆ  ทำไมไม่กลับไปทำงานที่มีอยู่ให้เรียบร้อยดูดี  ถ้าลูกค้าเราใจดีช่างคุยก็อาจจะได้คุยกันนาน แต่ถ้าลูกค้าแสนดีของเราเกิดยุ่งและไม่ชอบสิ่งที่เรากำลังทำ ไม่ชอบการไปสั่งสอนว่าให้หางานให้คุณ  ลูกค้าก็อาจจะค่อยๆหายไปจากคุณก็ได้  คุ้มไหมกับการเปลี่ยนลูกค้าให้เป็นแหล่งสร้าง referral

IMG_9742

สิ่งที่เราควรจะโฟกัสให้ชัดก็คือ หา referral source จากกลุ่มเน็ตเวิร์คกิ้งให้เจอ  เขาเป็นคนที่มีลูกค้าคนเดียวกับเรา เขาเข้าใจการทำงานเป็นทีม เขาเข้าใจการทำตลาดแบบบอกต่ออย่างแท้จริง เขาให้ความสำคัญกับกลุ่มเน็ตเวิร์คกิ้งอย่างเพียงพอ เขามีเวลามาพูดคุยกับเราว่าเขาต้องการลูกค้าแบบไหน เราต้องการลูกค้าแบบไหน เขาพร้อมจะทำธุรกิจไปพร้อมๆกับเรา และเขามีเวลาให้เรา

ต่อให้เรามีลูกค้าคนเดียวกัน แต่ถ้าคุยไม่รู้เรื่อง ไม่มีเวลาให้เรา ก็ให้ท่องไว้ว่า  หาคนใหม่เข้าทีมเรา.

In this blog, business networking expert Dr. Ivan Misner® explains why, contrary to popular belief, customers may not be your best source for referrals.

bni กับแนวคิดของ การทำ farming ไม่ใช่ hunting

dpp - Bod 23may2023 -IMG_4121

วิธีการทำการตลาดแบบบอกต่อที่เป็นหัวใจของ bni เป็นวิธีที่เน้นการปลูกสร้างสายสัมพันธ์  หลายคำศัพท์ที่มักจะได้ยินในกลุ่มของนักธุรกิจ bni คือ เรามาทำ farming ไม่ใช่ hunting

dpp - Bod 23may2023 -IMG_4142

farming คืออะไร  ย้อนกลับไปที่คำศัพท์การทำฟาร์ม  การทำฟาร์มใดๆก็ตาม เราจะต้องได้ผลผลิตจากสิ่งนั้นอย่างสม่ำเสมอ  เช่น ถ้าเราทำฟาร์มไก่ เราก็เลี้ยงไก่ ผลผลิตเป็นไก่ เราได้ไก่กินทุกวัน เรามีไก่ไปขายทุกวัน  แม้เราหลับ เราตื่นมาก็มีไก่ให้กิน  เพราะฟาร์มจะมีผลลัพธ์ให้เราตลอดเวลา

ถ้าเราปลูกเห็ดขาย เรากำลังทำฟาร์มเห็ด  เราก็จะมีเห็ดให้เก็บขายทุกวัน  วันนี้เก็บไปแล้ว พรุ่งนี้มีเห็ดต้นใหม่ให้เก็บ เก็บขายทุกวัน นอนหลับตื่นมา พรุ่งนี้ก็มีเห็ดต้นใหม่

สิ่งที่ยกตัวอย่างมาคือเราทำฟาร์ม  ฟาร์มนั้นๆจะต้องให้ผลลัพธ์กับเราตลอดเวลา สิ่งที่เราต้องทำก็คือ หล่อเลี้ยงฟาร์มนั้นด้วยสิ่งที่จำเป็น เลี้ยงไก่ ก็ต้อง ให้อาหาร ให้น้ำ เก็บกวาดขี้ไก่ทำความสะอาด  ปลูกเห็ดก็ต้องรดน้ำ ใส่ปุ๋ย สิ่งที่เราทำเพิ่มลงไปทุกวันๆก็เพื่อให้วันพรุ่งนี้มีผลผลิต

dpp - Bod 23may2023 -IMG_4182

เรามา farming ใน bni  ก็คือ ฟาร์มแห่งนี้จะต้องให้ธุรกิจกับเราทุกวัน หรือ ให้บ่อยๆ หรือ ให้อย่างสม่ำเสมอ ขึ้นอยู่กับธุรกิจของเราด้วย  ถ้าเราเป็นคนรับเหมาสร้างบ้าน  ฟาร์มแห่งนี้ก็ควรจะให้ลูกค้าสร้างบ้านกับเราตลอดปี  จบหลังแรก ก็มีหลังที่สองให้สร้างต่อ ทำให้บริษัทไม่ว่างงาน   หรือถ้าเราทำธุรกิจโรงพิมพ์  ฟาร์มแห่งนี้ก็ควรจะให้ลูกค้าที่สั่งพิมพ์งานทุกวัน หรือทุกสัปดาห์แล้วแต่ชนิดงาน ถ้าปีนึงลูกค้าสั่งงานโรงพิมพ์ 1 ครั้ง และเราใช้เวลาผลิตงานประมาณ 1 สัปดาห์  ฟาร์มแห่งนี้ก็ควรจะทำให้เราได้ลูกค้า 52 รายเพื่อให้โรงพิมพ์ได้ทำงานส่งทุกสัปดาห์นั่นเอง

dpp - Bod 23may2023 -IMG_4183

farming ใน bni คือการพาตัวเองเข้าไปสู่สังคมของกลุ่มคนประมาณ 40-50 คน  คนในกลุ่มนี้จะมีหลายหลายอาชีพ และทุกคนอาชีพไม่ซ้ำกัน  การที่จะให้คนเหล่านี้แนะนำบอกต่อลูกค้ามาสั่งงานกับเรา ก็ต้องมีขั้นตอนหลายอย่าง เช่น เราจะต้องได้รับความไว้วางใจว่าเรามีคุณภาพ เพื่อนถึงจะกล้าแนะนำงานให้  เราต้องเป็นเพื่อนเขา สนิทสนมกับเขาในระดับนึง  และ เขาต้องรู้จักเรา รู้จักธุรกิจของเรา  และรู้ว่า งานที่เขาจะช่วยบอกต่อมาถึงเรานั้น เป็นงานที่เราต้องการจริงๆหรือไม่  ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราทำธุรกิจโรงพิมพ์  เราก็อยากจะพิมพ์งานหลายอย่าง  แต่งานที่เราทำไม่ได้ก็มี เช่น งานพิมพ์หนังสือพิมพ์ เพราะเครื่องจักรของเราผลิตหนังสือพิมพ์ไม่ได้  ดังนั้นเพื่อนในกลุ่มถ้าเขารู้จักเรา รู้จักธุรกิจเรา เขาจะไม่แนะนำงานหนังสือพิมพ์มาให้เรานั่นเอง

IMG_0048

ในขณะที่เรากำลังสร้างฟาร์มที่จะมีลูกค้า มีงานส่งมาถึงเราอย่างต่อเนื่อง  เราก็เป็นฟาร์มของคนอื่นเช่นกัน  คนอื่นจะต้องพยายามสร้างความไว้วางใจให้ได้  เขาจะต้องทำให้เราเชื่อและไว้ใจว่าเขามีคุณภาพ และจะไม่ทำเรื่องไม่ดีกับลูกค้าที่เราส่งไปให้  การหล่อเลี้ยงฟาร์มแห่งนี้เพื่อให้เกิดการแนะนำบอกต่ออย่างต่อเนื่องนั้น เราจะต้องมีวิธีการประจำวันที่จะทำงานกับระบบแบบนี้  ดังต่อไปนี้

dpp - Bod 23may2023 -IMG_4280

1  ต้องพบกันอย่างสม่ำเสมอ  ในทางปฏิบัติ ก็คือการเจอกัน คุยกันอย่างเป็นประจำ  คำว่าเป็นประจำมีความหมายยิ่งกว่าบ่อยๆ  ในกลุ่ม networking ทางธุรกิจ จะมีการพบกันสัปดาห์ละ 1 ครั้ง เจอกันบ่อยยิ่งกว่าญาตพี่น้องเสียอีก  การพบกันอย่างสม่ำเสมอทำให้เราและเขาได้รับรู้ข้อมูลซึ่งกันและกัน  แลกเปลี่ยนข้อมูลกัน และสามารถนำไปสู่ความไว้วางใจในการส่งต่อลูกค้าได้  ให้ลองคิดเล่นๆว่า  เราจะบอกต่อลูกค้าคนสำคัญของเราให้กับเพื่อนแบบไหน เพื่อนแบบที่นัดแล้วไม่มา  ไม่ค่อยได้เจอ  หรือเพื่อนที่พบกันทุกสัปดาห์และเขารับผิดชอบงานดี

2  ต้องใช้เวลาพูดคุยกันอย่างถึงแก่นของธุรกิจ  รู้ในสิ่งที่ควรรู้ของเพื่อน  เช่น  ต้องรู้ถึงระดับที่ว่า งานที่เราพบเจอใช่งานของเพื่อนเราจริงไหม  อย่างเช่น  ถ้ามีคนจะซ่อมบ้าน ต่อเติมบ้าน  และในกลุ่ม network ของเรามีผู้รับเหมาสร้างบ้าน  เราต้องรู้ว่า ผู้รับเหมาที่เราพบกันประจำเขารับงานต่อเติมไหม  บางคนอาจรับแต่งานสร้างใหม่  ส่วนงานซ่อมหรืองานต่อเติมไม่รับ  ดังนั้น  เวลาเราจะเลือกส่งต่องาน เราควรรู้ว่า คนรับเขาอยากได้งานนั้นๆจริงหรือไม่  และการที่จะได้รู้ว่าเขาอยากรับ หรือ ไม่อยากรับ  เราต้องผ่านการพูดคุยกันในเชิงลึก  ผ่านการได้ดูได้เห็นผลงานของเขา  ในทางกลับกัน  ถ้าเพื่อนผู้รับเหมาจะส่งงานมาให้เรา  เขาก็ควรรู้จักเราว่าเราชอบงานนั้น หรือ ไม่ต้องการงานแบบนั้น

เมื่อเราพบกันสม่ำเสมอ และรู้ข้อมูลเชิงลึกซึ่งกันและกันแล้ว ก็เท่ากับเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับคนทั้งสองฝ่าย  การแนะนำลูกค้าที่เรามีอยู่ให้ใช้บริการเพื่อนในกลุ่มก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้  ไม่ตะขิดตะขวงใจ  คนเรามีลูกค้าติดตัวรวมถึงคนรู้จักที่พูดคุยได้อย่างน้อย 200 คน  ถ้าเรารวมกลุ่มกันเป็นกลุ่มย่อย 5 คน ก็เท่ากับมี 1000 ว่าที่ลูกค้า  ถ้าเรารวมกลุ่มกัน 40 คน เราจะมีว่าที่ลูกค้า 8000 คน  นี่คือความน่าจะเป็นของการทำธุรกิจด้วยวิธีการบอกต่อ  แต่เราบอกต่อแบบมีคุณภาพ และมีโครงสร้างการติดตามงานที่ชัดเจน ทำให้การบอกต่อเป็นการบอกต่อที่เกิดผลลัพธ์  ซึ่งมันก็คือการทำฟาร์มที่จะได้ผลเป็นลูกค้านั่นเอง  เพราะในกลุ่มจะวนเวียนเกิดงานใหม่ๆให้แก่สมาชิกเสมอ

nec pocket06

สื่อสารให้เรียบง่าย ตรงประเด็น และเจาะจง

DSCF8198

ในการทำตลาดแบบบอกต่อ หรือ referral marketing สิ่งทำคัญอย่างหนึ่งก็คือการพูดอธิบายตัวตนของเราต่อลูกค้า หรือ ต่อสมาชิกเพื่อนฝูงที่จะหาลูกค้าให้เรา การสื่อสารเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมาก เพราะถ้าสื่อสารผิดมันส่งผลเสียหลายอย่าง ตั้งแต่การเข้าใจผิด การไม่อุดหนุนต่อ และถ้ามันใหญ่โตมันเกิดเป็นสงครามได้ไม่ยากเลย และการสื่อสารในการทำ networking ก็ต้องทำให้ ชัดเจน จำง่าย และตรงประเด็น

วิธีการที่ผิดในการสื่อสารจะมีดังนี้
1 พูดมากเกินไป
2 พูดศัพท์เทคนิคมากเกินไป
3 พูดธรรมดาเกินไป

การพูดมากจะทำให้คนจำไม่ได้ เราควรเลือกคำพูดที่กลั่นกรองมาแล้ว รวบรัดย่อส่วนให้เหลือแต่ใจความสำคัญมาแล้ว  การพูดศัพท์เทคนิคเยอะ จะทำให้คนตามไม่ทัน และพาลไม่สนใจเพราะฟังไม่รู้เรื่อง เราควรเลือกใช้คำพูดที่พบเจอในชีวิตประจำวันของคนปกติ  พูดธรรมดาเกินไปจะทำให้คนไม่เห็นว่าคุณเก่ง หรือ น่าสนใจ เพราะใครๆก็มีหรือเป็นแบบที่คุณพูด

 

ยกตัวอย่าง

ผมทำ IT consult ครับ แนวนี้คือศัพท์เทคนิคล้วนๆ มันมากเกินไปสำหรับคนธรรมดา
อาจต้องลองเปลี่ยนเป็น ผมดูแลคอมพิวเตอร์ให้ทำงานได้ตลอดทุกวัน ปัญหาส่งเมลไม่ได้ พิมพ์เอกสารไม่ได้ จะหมดไป

 

ฉันทำบัญชี ดูแลเรื่องภาษี แนวนี้คือ ธรรมดาเกินไป ฟังแล้วไม่แตกต่างจากบริษัททั่วไป
อาจลองเปลี่ยนเป็น ฉันวางแผนเรื่องเอกสารทางบัญชีอย่างฉลาดและรัดกุม ทำให้เสียภาษีน้อยลงอย่างไม่น่าเชื่อ

ที่มา http://businessnetworking.com/communicate-simply-specificity/

 

 

 

 

 

 

 

.

 

 

 

 

 

.

 

วิธีการหา referral ให้เพื่อน

การหา referral  ให้เพื่อนนั้นจะว่ายากก็ยาก จะว่าง่ายก็ง่าย  ใครยังไม่เคยให้อาจจะมึนงง  ไปต่อไม่ถูก  วันนี้เรามีวิธีการหนึ่งที่จะทำให้เรามี referral ให้เพื่อนครับ

การทำการตลาดแบบบอกต่อ เราจะต้องพัฒนาตัวเราให้เป็นนักแก้ปัญหาให้เพื่อน  ใครมีปัญหา ใครมองหาบริการหรือผลิตภัณฑ์ก็ให้มาถามกับเรา  ทำให้ทุกคำถามเร่ิมต้นที่เรา

แปลว่าให้เราทำตัวเป็นผู้คุมประตูสมบัติ  สมบัติหลังประตูนี้คือ ซัพพลายเออร์ชั้นดี  ซึ่งหมายถึงสมาชิกในแช็พเตอร์  ใครอยากอยากติดต่อกับซัพพลายเออร์คุณภาพในเครือข่ายของเรา  ก็ให้บอกเรา  แล้วเราก็จะนัดหมายและคัดเลือกซัพพลายเออร์ในเครือข่ายของเราไปให้

สิ่งที่เราต้องทำก็คือ  ส่งข่าวด้วยวิธีการที่เราถนัด  จะเป็นการโทรคุย หรือเป็น message หรือเป็นจดหมายก็ได้  ดร.ไอแวน ไมเนอร์แนะนำให้ทำเป็นจดหมายข่าว  อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง  ถ้าเป็นไปได้ควรจะทำสามเดือนครั้ง  ให้ส่งจดหมายไปยังคนรู้จักและลูกค้าของเรา  บอกว่าเรามีเครือข่ายผู้ประกอบการที่ดี และมีประโยชน์ในทางใดทางหนึ่งกับธุรกิจของท่านแน่นอน  ดูอาชีพต่างๆได้ในลิสต์ที่แนบมาด้วย

แต่สิ่งที่สำคัญในเนื้อหาจดหมายก็คือ  อย่าให้เบอร์โทร และชื่อสมาชิกไปในทันที  ให้แต่รายนามอาชีพที่มีอยู่  แล้วให้ลูกค้าของเราเลือกตัดสินใจเองว่าอยากติดต่อกับใคร  แล้วเราค่อยทำนัดหมายให้ทั้งคู่ได้คุยกัน

เมื่อมีการเริ่มต้นนัดหมาย ก็เท่ากับว่าเราทำการตลาดแบบบอกต่อสำเร็จเพียงเท่านี้เราก็จะเป็นนักแก้ปัญหาที่เก่งขึ้นเรื่อยๆ

ข้อมูลเรียบเรียงจาก http://businessnetworking.com/